ข่าว

'ไข้เลือดออก' ไทยพุ่งสูง ปี 67 คาดมีผู้ป่วย 2.7 แสนราย เร่งป้องกันลดเสียชีวิต

'ไข้เลือดออก' ไทยพุ่งสูง ปี 67 คาดมีผู้ป่วย 2.7 แสนราย เร่งป้องกันลดเสียชีวิต

06 มี.ค. 2567

'ไข้เลือดออก' ไทยพุ่งสูงกรมควบคุมโรคคาดการณ์ปี 2567 มีผู้ป่วยเพิ่ม 2.7 แสนราย ตั้งเป้าป้องกันลดอัตราป่วยรุนแรงเสียชีวิต ส่งเสริมฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

กรมควบคุมโรคคาดปี 2567 ประเทศไทยจะมียอดผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งสูงขึ้น มากถึง 3 เท่าของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี หรือประมาณ 276,945 คน  พร้อมยอดผู้เสียชีวิตที่อาจสูงถึง 280 รายอีกด้วย โดยโรค "ไข้เลือดออก" ที่ระบาดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่มีผลต่อการระบาดของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี 2565 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมด้วยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และพันธมิตรทางด้านสาธารณสุขจากภาครัฐและเอกชนรวม 11 องค์กร จัดตั้งพันธมิตรเครือข่ายความร่วมมือว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย (Dengue-zero MOU) เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออกและลดอัตราการเสียชีวิตให้เป็นศูนย์ ล่าสุด ได้จัดประชุมเพื่อทบทวนกรอบยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์หลักในระยะเวลา 5 ปี พร้อมรายงานการดำเนินงานในโครงการต่าง ๆ ของปี 2566 และเสนอแผนงานในปี 2567 ต่อไป

ศ.เกียรติคุณนพ. อมร ลีลารัศมี ประธานความร่วมมือ Dengue-zero กล่าวว่า สำหรับปี พ.ศ. 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า ภาพรวมของ "ไข้เลือดออก" ในปี พ.ศ. 2566 กับ พ.ศ. 2567 จะไม่แตกต่างกันมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นถึง 276,945 ราย และเป็นหนึ่งในสามโรคระบาดที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  รองมาจากโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่ส่งผลให้อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนและความชื้นเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นๆ

 

\'ไข้เลือดออก\' ไทยพุ่งสูง ปี 67 คาดมีผู้ป่วย 2.7 แสนราย เร่งป้องกันลดเสียชีวิต

 

 

โรค "ไข้เลือดออก" เป็นโรคที่ระบาดตลอดปี และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะ เป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน  และเกิดผื่นที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ

 

\'ไข้เลือดออก\' ไทยพุ่งสูง ปี 67 คาดมีผู้ป่วย 2.7 แสนราย เร่งป้องกันลดเสียชีวิต

 

“ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเดงกี เพราะฉะนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรค "ไข้เลือดออก" ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นทายากันยุงและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและนอกบ้าน และถ้าหากมีอาการป่วยไข้ ให้ดูแลตัวเองตามอาการ แต่ต้องระวังการทานยาลดไข้ไม่ให้เกินขนาดที่เหมาะสม นอกจากนี้การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกได้โดยการฉีดวัคซีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคได้หากติดเชื้อเดงกี อยากให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงอันตรายจากโรคไข้เลือดออก เพราะรายต่อไปอาจจะเป็นคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณ” นพ.อมร กล่าวเสริม

 

 

เพราะโรคไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน ผ่านความร่วมมือ Dengue-zero หรือ Dengue-zero MOU นำโดยภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชน 11 องค์กร ประกอบด้วย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปีนี้นับว่าก้าวสู่ปีที่ 3 ของการทำงาน โดยในการประชุมครั้งนี้เป็นวาระที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นเพื่อแถลงถึงความคืบหน้าและความสำเร็จในการปฏิบัติตามกรอบยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์หลักในระยะเวลา 5 ปี ในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกแก่ชุมชนทั่วประเทศ และสร้างเครือข่ายป้องกันการเกิดโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะลดอัตราการเกิดโรคและพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก