ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน แหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ จุดศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเอง
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน จัดตั้งขึ้นภายในพื้นที่ของหมอดินอาสา เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินให้แก่เกษตรกรรายอื่น ๆ นำไปปรับใช้ในไร่นาของตนเอง เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านในหลายพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้เล็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้เกษตรกร และผู้ที่สนใจในด้านการใช้ประโยชน์จากดิน ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการปลูกพืช ตลอดจนการปรับปรุงบำรุงดินจากเทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน มีสื่อการเรียนรู้ที่เป็นองค์ประกอบหลักเพื่อให้เข้าใจในเรื่องต่าง ๆ จากกรมพัฒนาที่ดินที่ต้องการให้เกษตรกร พัฒนาที่อยู่ ที่ทำกินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เสมียน นราพล หมอดินอาสา บ้านบุ่งสิบสี่ ต.โนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เกษตรกรเจ้าของสวนส้มโอ มีเนื้อที่รวมประมาณ 13 ไร่ เริ่มทำสวนตั้งแต่ปี 2540 ปลูกส้มโอหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ทองดี ขาวน้ำผึ้ง ทับทิมสยาม รวมถึงมณีอิสานซึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตราวปีละ 5 แสนบาท
โดยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ในการประกอบอาชีพ เน้นการพึ่งพาตนเอง ทำการเกษตรแบบผสมผสานและมีการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยผสานภูมิปัญญาผนวกกับความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดความรู้จากสถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิโดยกรมพัฒนาที่ดิน ในการปรับปรุงบำรุงดินและจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการทำการเกษตร การนำเทคโนโลยีชีวภาพ อย่างการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์จากสารเร่ง พด.ต่าง ๆ การทำน้ำหมักชีวภาพ ตลอดจนการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง และเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จากการเปิดพื้นที่การเกษตรของตนเอง เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และประชาชนผู้สนใจในการทำการเกษตร โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ
กรมพัฒนาที่ดิน มีแนวทางส่งเสริม สนับสนุน และถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผ่านศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เป็นตัวอย่างต้นแบบที่เกษตรกรสามารถเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่จริงได้ โดยมีหมอดินอาสา เปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และผ่านการอบรมจากกรมฯ ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ โดยสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินต่าง ๆ ทั้งการวางแผนการใช้ที่ดินระดับแปลง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเลือกชนิดพืชและกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสภาพื้นที่ภูมิอากาศ การทำเกษตรแบบผสมผสาน สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน