"น้ำข่าสมุนไพร"หอมชื่นใจ คลายร้อน
ร้อนๆแบบนี้ได้จิบ “น้ำข่าสมุนไพร”ที่หอม เย็น ชื่นใจช่วยให้ผ่อนคลายได้ดีเลยทีเดียว
พูดไม่ผิดแน่สำหรับ “น้ำข่าสมุนไพร” ผลิตภัณฑ์ใหม่ถอดด้ามจากไอเดียของ “กลุ่มข่าตาแดง ” หมู่ที่ 1 บ้านเลียบ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ที่ผนึกความร่วมกันแปรรูป“ข่าตาแดง”ให้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่สำคัญรสชาติอร่อย
ข่าตาแดงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างน้อย 7 หมู่บ้านในตำบลบางกล่ำ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เพราะที่นี่เป็นแหล่งปลูกสำคัญที่ผลผลิตร้อยละ 70 ส่งออกไปขายตลาดเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย
ด้วยคุณสมบัติของข่าตาแดงที่มีสีสวย เนื้อแน่น ไม่มีเสี้ยน ทำให้ขายดีเป็นที่นิยมของตลาด ราคาขายโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 25-30 บาท แต่ละเดือนในพื้นที่บางกล่ำจึงมีรายได้หมุนเวียนไม่น้อยกว่า3 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมกับรายได้ใหม่ที่คาดว่ากำลังจะเข้ามาช่วยเสริมให้เกิดเป็นอาชีพใหม่จากการการแปรรูป “หัวข่า” ให้เป็น “น้ำข่า”วางจำหน่ายตลาดทั่วไปในพื้นที่
“น้อย ตรีวัย” หรือ “พี่น้อย” เกษตรกรผู้ปลูกข่าตาแดง รับหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธุ์กลุ่มข่าตาแดง เล่าว่า ด้วยสภาพพื้นที่อำเภอบางกล่ำจะเป็นดิน 3 น้ำคือน้ำเค็ม น้ำจืดและน้ำกร่อย ทำให้พืชผักและผลไม้เจริญงอกงามทั้งปี
และที่สำคัญดิน 3 น้ำที่ว่านี้ช่วยทำให้รสชาติผักและผลไม้อร่อยด้วย ดังนั้นการนำหัวข่ามาแปรรูปก็น่าจะช่วยทำให้รสชาติออกมาดีด้วย นั่นคือที่มาของการผลืต “น้ำข่าสมุนไพร”ขึ้นมาทดลองและขายได้จริง
อีกทั้งการแปรรูปนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพราะมีวัตถุดิบที่รอการแปรรูปอยู่ในทุกๆวัน หมดห่วงเรื่องผลผลิตขาดแคลนได้เลย
จุดเด่นของ "ข่าตาแดง" เป็นพืชที่ลงทุนปลูกครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตได้ยาวนานต่อเนื่อง 10 ปี เทคนิคง่ายๆข่า 1 กอเวลาขุดให้ทิ้งหน่อไว้ประมาณ 3-4 ต้นเพื่อให้แตกหน่อใหม่
ไม่ต้องเสียเวลาไปปลูกเพิ่มเพราะข่าตามแดงเป็นข่าพื้นบ้านที่ปลูกง่าย แตกหน่อดี แถมราคาดีไม่มีตก ชาวบ้านจึงปลูกกันทุกหลังคาครัวเรือน
นี่แหละ คือ จุดเด่นที่ช่วยเติมเต็มให้การต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าในชุมชนบางกล่ำมีคุณภาพและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค"อวบ สุมฤทธิ์” ประธานกลุ่มข่าตาแดงหมู่ที่ 1 บ้านเลียบ แกนนำคนสำคัญที่คิดค้นสูตร “น้ำข่า” ยิ้มรับความสำเร็จที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โภค บอกว่า ข่าเป็นพืชคู่ครัวของคนปักษ์ใต้ที่ขาดไม่ได้ในแต่ละมื้อเพราะเครื่องแกงกลิ่นแรง เผ็ด ร้อนจัดจ้านต้องอุดมด้วยหัวข่า
แถมข่ายังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยย่อย ช่วยขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้องได้ดีด้วย จึงคิดไม่ผิดแน่หากร่วมกันยกระดับแปรรูปหัวข่าให้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรขึ้นมา
อย่างน้อยๆก็ได้รู้ว่าการเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่นั้นทำได้ง่ายๆและมีรายได้จริง
ขั้นตอนทำง่ายๆ นำหัวข่ามาล้างน้ำให้สะอาดหั่นเป็นชิ้นพอประมาณ จากนั้นทุบเพื่อให้เนื้อข่าแตกกลิ่นนำไปต้มผสมน้ำ น้ำตาล ใบเตยหอมและเกลือ ปรุงรสได้ตามชอบ
ต่อยอดสีสันให้น่ารับประทานด้วยการเพิ่มสีธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดอกอัญชัญ เก็กฮวย หรือกระเจี๊ยบก็น่าลิ้มลองไปอีกแบบ
แม้วันนี้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ด้วยรสชาติที่ดื่มแล้วหอมชื่นใจ ทำให้เป็นที่ถูกปากและติดใจของกลุ่มผู้บริโภคสั่งผลิตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนราคาขายเริ่มที่ขวดละ 10บาท
ทุกวันนี้มีลูกค้าคนสำคัญ คือ หน่วยงานรัฐและท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบางกล่ำที่ช่วยอุดหนุน “น้ำข่าสมุนไพร” ทุกครั้งที่มีการจัดประชุมสัมมนาในระดับพื้นที่
“น้ำข่าสมุนไพร” ไอเดียเล็กๆของคนกลุ่มใหญ่ที่ประสบความสำร็จได้ต้องยกนิ้วให้กับการขับเคลื่อนของชุมชนคนบางกล่ำที่มีความรัก สามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น
แม้ทุกหลังคาเรือนจะปลูกข่าเหมือนๆกัน แต่เวลาขายนั้นก็จะนำมารวมกันขายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแย่งตลาด
..นี่แหละตัวอย่างชุมชนเข้มแข็งที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข และร่วมกันคว้าชัยความสำเร็จมาครองได้