กางแผนที่โลก ส่องยุทธชาติแห่งชาติ "ปัญญาประดิษฐ์"
รัฐบาลหลายประเทศจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อตอกย้ำความจริงจังในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านยกระดับคุณภาพชีวิต ฯลฯ
ข้อมูลจากรายงาน Global Artificial Intelligence Study 2017 ของ PwC คาดการณ์ไว้ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (Artificial Intelligence : AI) จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจีดีพีโลกได้สูงถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 470 ล้านล้านบาท) ในปี 2573 อีกทั้งคาดหมายว่าในปีดังกล่าว ตลาดเอไอของจีนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้จีดีพีโลกถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 20 ล้านล้านบาท) และระยะต่อไป นานาประเทศจะเริ่มมีกลยุทธ์ด้านเอไอเพื่อใช้ในธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน นอกเหนือไปจาก ความร่วมมือกันขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อศึกษาและวิจัยเอไอ
ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 25 ประเทศทั่วโลก ประกาศให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติแล้ว หรือแสดงท่าทีชัดเจนว่ากำลังเดินหน้าจัดทำให้เป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติอย่างจริงจัง น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากประเทศใหญ่ๆ ทางเศรษฐกิจของโลกและของเอเชีย ก็ยังมีประเทศจากทวีปแอฟริกาอย่างเช่น ตูนิเซีย และเคนยา ที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านนี้เช่นกัน ขณะที่ ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลประกาศย้ำซ้ำๆ ถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรืออุตสาหกรรมยุค 4.0 มาต่อเนื่องหลายปี กลับยังไม่มีความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม และยังไม่ได้ถูกปักหมุดไว้บนแผนที่โลกด้านเอไอ
เว็บไซต์ https://medium.com ได้รวบรวมรายชื่อทั้ง 25 ประเทศที่ปักหมุดอยู่บนแผนที่เอไอฉบับล่าสุดไว้ ดังนี้ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เดนมาร์ก สหภาพยุโรป ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ อิตาลี เคนยา นิวซีแลนด์ กลุ่มประเทศนอร์ดิก/บอลติก เม็กซิโก สวีเดน ไต้หวัน ตูนิเซีย มาเลเซีย โปแลนด์ และรัสเซีย
ทั้งนี้ รัฐบาลหลายประเทศยังจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อตอกย้ำความจริงจังในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม/สิ่งแวดล้อม และความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นหัวใจของการแข่งขันในสงครามเศรษฐกิจยุคใหม่ เหตุผลที่ทุกประเทศยอม “ทุ่มงินลงทุน” เพราะตระหนักถึงความสำคัญที่จำเป็นต้อง “สร้าง” คนที่มีทักษะและงานวิจัย/พัฒนา เพื่อทำให้เทคโนโลยีใหม่นี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และกว้างขวาง
จีนตั้งเป้าต่อยอดเอไอสู่ศก.ล้านล้านหยวน
พี่ใหญ่ของเอเชียหรืออาจรวมถึงของโลก ประกาศกร้าวถึงแผนยุทธศาสตร์เอไอ มาตั้งแต่ราวกลางปี 2560 ครอบคลุมวิสัยทัศน์ตามขั้นตอน 3 ระยะ ได้แก่ ใช้เอไอหนุนแข่งขันกับคู่แข่งในภาคอุตสาหกรรม ภายในปี 2563 ขยับเป็นผู้นำเอไอโลก ภายในปี 2568 และเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเอไอ ภายในปี 2578 ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น รัฐบาลจีนมองเป้าหมายว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเอไอจะสร้างมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านล้านบาท) และผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศจีนให้มีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 50 ล้านล้านบาท)
แม้จะไม่มีตัวเลขงบประมาณชัดเจนในภาพรวม แต่ที่แน่ๆ ได้ประกาศทุ่มเงิน 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 60,000 ล้านบาท) จัดสร้างอุทยานเทคโนโลยีสำหรับงานวิจัยด้านเอไอ ขึ้นในปักกิ่ง ควบคู่กับการทำงานร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีน เพื่อช่วยกันทำงานวิจัยและสร้างความเป็นผู้นำในสาขานี้
ขณะที่ สหภาพยุโรป ประกาศแผนยุทธศาสตร์เอไอ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยพร้อมเพิ่มเงินลงทุนด้านเอไอ จาก 500 ล้านยูโร (ประมาณ 18,500 ล้านบาท) ในปี 2560 เป็น 1.5 พันล้านยูโร (ประมาณ 55,500 ล้านบาท) ภายในปี 2563
ทางด้านสหรัฐอเมริกา แม้ว่างานนี้จะขยับช้ากว่าจีน และเพิ่งประกาศจุดยืนด้านเอไอไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ก็มา “แรง” ด้วยการย้ำเป้าหมายชัดเจนว่าจะขอครองความเป็นผู้นำด้านเอไอ แม้ไม่มีการเปิดเผยงบประมาณด้านนี้ แต่จากข้อมูลในแผนยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนาปี 2559 ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐลงทุนไปถึงกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สำหรัฐ (หรือกว่า 30,000 ล้านบาท) เฉพาะในโครงการด้านเอไอส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ อีกทั้งมีบางสื่อเปิดเผยตัวเลขงบประมาณเมื่อปี 2560 จำนวน 7.4 พันล้านดอลลาร์สำหรัฐ (หรือกว่า 200,000 ล้านบาท) ที่เพนตากอน ใช้จ่ายไปกับโครงการที่เปิดเผยได้ในด้านเอไอ และเทคโนโลยีเกี่ยวข้องอย่าง บิ๊ก ดาต้า และคลาวด์ คอมพิวติ้ง
ในกลุ่มที่ผู้นำจริงจังอย่างสุดตัวอีกประเทศหนึ่งกับแผนยุทธศาสตร์เอไอแห่งชาติ ก็คือ ฝรั่งเศส ซึ่งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ประกาศเป้าหมายผลักดันฝรั่งเศส เป็นศูนย์กลางเอไอแห่งยุโรป และเป็นเสาที่ 3 ของการพัฒนาด้านเอไอ นอกเหนือจากสหรัฐและญี่ปุ่น ด้วยงบประมาณ 1.5 พันล้านยูโร (หรือกว่า 55,000 ล้านบาท) สำหรับแผนงาน 5 ปี โดยให้ความสำคัญกับ 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาธารณสุข ขนส่ง สิ่งแวดล้อม และการทหารและความปลอดภัย
แผนเอไอแห่งชาติของเอเชีย
ญี่ปุ่น เป็นประเทศแรกในเอเชีย และประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากแคนาดา ซึ่งจัดทำยุทธศาสตร์เอไอแห่งชาติ โดยวางเป้าหมายหลักการวิจัยและพัฒนาเอไอเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเมื่อมองย้อนไปถึงความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (โรโบติกส์) ของญี่ปุ่น ซึ่งง่ายที่จะใช้เอไอเข้ามาต่อยอดให้ชาญฉลาดและทวีศักยภาพยิ่งขึ้น
ทางด้านสิงโปร์ ผู้นำเศรษฐกิจของอาเซียน เปิดตัวแผนไอเอแห่งชาติ เมื่อราวกลางปี 2560 เป็นแผนงาน 5 ปี ด้วยงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,600 ล้านบาท) จุดเด่นคือเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักๆ อีก 6 แห่ง เน้นตอบโจทย์ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการใช้งานเชิงอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ผู้ทุ่มทุนกับแผนเอไอแห่งชาติในระดับเอเชีย (ไม่รวมจีน) น่าจะเป็นรัฐบาลเกาหลีใต้ ประเดิมด้วยก้อนแรก 1 ล้านล้านวอน (ประมาณ 29,000 ล้านบาท) สำหรับแผนงาน 5 ปีแรก และต่อมาประกาศเพิ่มสำหรับแผนงานระยะ 5 ปีต่อไปอีก 2.2 ล้านล้านวอน (หรือกว่า 60,000 ล้านบาท) ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าหมายหลักที่งานด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการ “ลงทุน” เพื่อสร้างบุคลากรในสาขานี้
โดยตามแผนงาน รัฐบาลจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในสาขานี้ 6 แห่ง ภายในปี 2565 ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ 5,000 คน แบ่งเป็น นักวิจัยเอไอ 1,400 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูล 3.600 คน) อีกทั้งยังมีแผนงานด้านอื่นๆ สำหรับการสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับแผนเอไอแห่งชาติ และการนำมาใช้งานในหลายด้าน
แนะรัฐบาลไทยวางยุทธศาสตร์เอไอ
ก่อนหน้านี้ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมนา “ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี” ว่า ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน กำหนดยุทธศาสตร์และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์เลย ซึ่งหากประเทศไทยปรับตัวไม่ทัน หลายอุตสาหกรรมจะปั่นป่วนมากจากการใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าเหล่านี้ในต่างประเทศ
มูลค่าเพิ่มจากการผลิตในหลายสาขาธุรกิจจะย้ายออกไปสู่ประเทศที่ล้ำหน้ากว่าและคุ้มค่ากว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้แค่ร้อยละ 2.1 ต่อปี จากเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คาดว่าจะโตร้อยละ 5 ต่อปี และจะมีตำแหน่งงานหายไปร่วม 3 ล้านคน ขณะที่ หากประเทศไทยเลือกที่จะปรับตัวโดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาเองได้ โดยดำเนินการตามวิสัยทัศน์ “ไทยแลนด์ 4.0” เช่น เอาระบบออโตเมชั่นมาใช้อย่างเต็มที่ ก็จะโตได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ต่อปี
ขณะที่ ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า รัฐบาลพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แต่จริงๆ แล้วคือ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ดังนั้น รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนสนับสนุนให้ประเทศไทย มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างทักษะ และเทคโนโลยีหลักที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย แทนการเน้น “การพึ่งพาหรือซื้อเทคโนโลยี” เข้ามาใช้งาน เพราะการสร้างเองจะทำให้สามารถแข่งขันได้
“เพราะฉะนั้น ในบริบทของภาครัฐ บริบทของการสนับสนุน ต้องลงทุนสิ่งที่เป็น core ของประเทศไทย กำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนว่าจะมุ่งเน้นด้านใดที่เรามีจุดแข็ง ให้เงินทุน (Funding) ต่อยอดสิ่งที่นักวิจัยไทยทำไว้ ไม่ใช่พอมีบริษัทไอทีต่างประเทศทำ เราก็ไปใช้ของทางนั้นเลย โดยหยุดการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานในสิ่งที่เป็น core ที่นักวิจัยไทยทำไว้”
พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างประโยชน์ของการพัฒนาเอไอ ซึ่งจะยกระดับการพัฒนาประเทศ เช่น การพัฒนา Machine Translation หรือเครื่องมือดีๆ ที่สามารถแปลข้อความให้เป็นภาษาไทย จะเอื้อต่อการท่องเที่ยว อีกทั้งกระจายรายได้ถึงรากหญ้า เพราะลดข้อจำกัดด้านภาษา , การพัฒนาแชทบอท (Chatbot) ที่ช่วยให้สามารถฟังเป็นภาษาไทยได้ แม้ต่างชาติจะพูดมาเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น
/////////////////
บทความจาก
บัซซี่บล็อก หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์-อาทิตย์ 18-19 สิงหาคม 2561