"ชำนาญ"พร้อมทำคำชี้แจง...ยันไม่แทรกแซงผู้พิพากษา
"ชำนาญ รวิวรรณพงษ์"ก.ต.ฎีกาพร้อมทำคำชี้แจงหลังถูกยื่นถอดถอน เปิดใจไม่มีทางแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เคารพระบบตรวจสอบ
31 สิงหาคม 2561 "ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกา (ก.ต.ฎีกา)"พร้อมทำคำชี้แจงหลังถูกยื่นถอดถอน เปิดใจไม่มีทางแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ยืนยันเคารพระบบตรวจสอบ
"นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และได้รับเลือกเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกา ให้สัมภาษณ์เปิดใจกรณีมีผู้พิพากษา 1,735 คน ลงรายชื่อเสนอให้ถอดถอนพ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ชั้นฎีกา ด้วยข้อกล่าวหาส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย คุณธรรมและจริยธรรม หรือการกระทำที่น่าสงสัยว่ากระทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ ก.ต. จากกรณีที่อ้างถึงการแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นขณะสืบพยานในบัลลังก์ซึ่งตนไม่ใช่คู่ความในคดีและการแสดงกิริยาไม่เคารพกระบวนพิจารณาของศาล
กับแสดงตนเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าข่มขู่ผู้พิพากษาที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ว่า ไม่มีทางเลยที่ตนจะไปแทรกแซงผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เพราะตนผลักดันเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษามาตลอดมากกว่าใคร ตนเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ผู้พิพากษามีสิทธิอุทธรณ์มติของ ก.ต. ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ก.ต.เองก็ไม่ใช่เทวดาที่ไหน แม้ตนเป็น ก.ต.ก็ยอมให้ตรวจสอบได้ คือหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่แท้จริง เป็นหลักสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง
ส่วนการทำเอกสารคำชี้แจงข้อกล่าวหา "นายชำนาญ" ระบุว่า เป็นไปตามกรอบเวลาหลังพ้น 20 วัน รอให้สำนักงานศาลยุติธรรม ส่งเอกสารขอคำชี้แจงเข้ามาก่อนแล้วตนจะส่งไป คำชี้แจงจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้งความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงเกิดเหตุนี้ขึ้นมา บอกได้เลยว่าผู้พิพากษากระทำผิด ปกปิดบิดเบือน เดี๋ยวก็รู้ ปิดประกาศไปทั่ว เดี๋ยวทางผู้สื่อข่าวก็ได้รับ ขณะนี้เขียนเสร็จแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน ต้องรอเวลาเท่านั้น ตำแหน่งไม่ได้สำคัญ ถ้าเป็น ก.ต.แก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่มีความหมาย
คนตัดสินคือประชาชนที่จะมองว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องหรือไม่ ตนเป็นผู้พิพากษา นอกจากผู้พิพากษาด้วยกันเองตัดสินแล้วก็คือประชาชน เรื่องใหญ่คือตนทำอะไรให้ประชาชนบ้าง ทั้งหมดที่ทำมุ่งหวังประโยชน์ประชาชน แก้ไขให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งประชาชน ตำแหน่งเล็กน้อยไม่ยึดติด ถ้าไม่สามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ก็ไม่ควรมารับเงินเดือนสูงจากภาษีประชาชน
"นายชำนาญ" ยังกล่าวชี้แจงด้วยว่า ที่ผ่านมาตนเคยเสนอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของศาลชั้นต้น โดยต้องมีกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ทำหน้าที่ตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่ของศาลชั้นต้นไม่ให้ถูกแทรกแซง ซึ่งถ้ามีกองตรวจสอบใครก็แทรกแซงไม่ได้ ทุจริตไม่ได้ ประชาชนก็อุ่นใจ โดยเรื่องนี้ตนเสนอมาตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) แล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นต้องสังคายนากันใหม่ ทั้งระบบ ก.ต.ต้องปฏิรูปโครงสร้างการปฏิบัติหน้าที่ และการสืบพยานในศาลชั้นต้นควรต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ทั้งหมด จากการบันทึกแบบ "อมความ" ที่ผู้พิพากษาจะสรุปความให้ใกล้เคียงกับที่พยานเบิกความ มาสรุปเป็นภาษาของผู้พิพากษาเอง อาจไม่ตรงกับถ้อยคำที่เบิกความ
ตนก็ไม่ทราบใครคิดคำนี้ขึ้น เหมือนเป็นผู้พิพากษาเบิกความเองทำให้ความหมายเปลี่ยนไป บางทีท่านอาจจะฟังไม่ทันหรือลืมบันทึกสิ่งที่อาจจะเป็นถ้อยคำสำคัญ ทนายความเดือดร้อนโต้แย้งว่าพยานไม่ได้พูดแต่ศาลจดบันทึก ระบบนี้ก็ต้องแก้ไข ซึ่งสมัยใหม่ใช้กล้องวงจรปิด เครื่องบันทึกเสียง อย่างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ใช้เครื่องบันทึกเสียง ไต่สวนพยานถามตอบอย่างไรบันทึกตรงตามนั้น รวดเร็วมาก ไม่ต้องโต้เถียงเรื่องบันทึกไม่ตรงคำเบิกความ สามารถแก้ไขได้ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณเพียงเล็กน้อย แต่ผู้บริหารศาลยุติธรรมยังไม่เอาไปใช้ ถือเป็นบทเรียนที่ต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ศาลต้องเปลี่ยนวิธีการสืบพยานในศาลชั้นต้นใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่าตำแหน่งของตน
นายชำนาญ กล่าวอีกว่า ตนต้องผลักดันแก้ไขสิ่งเหล่านี้ เป็นศาลต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชน มิฉะนั้นจะเป็นไปทำไม ถ้าแก้ปัญหาอะไรไม่ได้จะเป็นทำไม ตำแหน่งเป็นแค่หัวโขน ถ้าเห็นการทุจริต ปฏิบัติหน้าที่มิชอบไม่ปราบได้หรือ การทำให้ประชาชนเสียหายถือว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทราบว่ามีการเสนอร่างกฎหมายคุ้มกันผู้พิพากษาจากการถูกดำเนินคดีเข้าไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตนเห็นว่าผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบถึงจะไม่ถูกดำเนินคดี ทำให้รอบคอบถึงคุ้มกันได้ ตนไม่กลัวถูกตรวจสอบ ถ้าทำโดยสุจริตไม่ควรกลัวถูกตรวจสอบ สิ่งสำคัญจำเป็นต้องตรวจสอบ ถ้าศาลชั้นต้นได้มาตรฐานเท่าเทียมศาลฎีกา ประโยชน์ตกเป็นของประชาชน ฉะนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรที่มาหาว่าตนแทรกแซง เหลวไหลทั้งนั้น การบิดเบือนต้องถูกปราบ อยากเรียนให้ทราบหัวโจกรังแกผู้พิพากษากันเองต้องถูกปราบ ท่านจะได้เห็นเร็วๆ นี้ มีที่ไหนออกข่าวผ่านสื่อเต็มไปหมด
ทั้งนี้ "นายชำนาญ" ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า คนเป็นผู้พิพากษาต้องฟังความสองฝ่าย ถ้าฟังฝ่ายเดียวแล้วออกความเห็นก็ไม่ต่างกับคนทั่วไป หลักสำคัญท่านถูกฝึกมาคือต้องฟังความสองฝ่าย ฝ่ายเดียวเชื่อมีความเห็นเลยไม่ได้ ต้องยึดหลักให้มั่นคง ก่อนจะวินิจฉัยอะไรต้องฟังสองฝ่ายเป็นหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายชำนาญนั้น ปัจจุบันอายุ 64 ปี ยังคงดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีศาลล้มละลายในศาลฎีกา ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งผู้พิพากษานี้ถึงอายุราชการ 65 ปี จากนั้นจะได้สิทธิขอและรับเลือกไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนถึงอายุ 70 ปี โดยการโยกย้ายล่าสุดนายชำนาญ ต้องพลาดการขึ้นตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 1 เนื่องจากติดปัญหาชั้นพิจารณาความเหมาะสมการดำรงตำแหน่งจากกรณีที่ถูกร้องเรียนกรณีดังกล่าว
แต่ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีศาลล้มลายในศาลฎีกา นายชำนาญ ก็ได้รับเลือกเป็นใน 1 ใน 9 องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยอุทธรณ์สลายม็อบ พธม.ปี 2551 ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องไว้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ซึ่งคดีอุทธรณ์เพิ่งจะมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยองค์คณะเสียงข้างมาก มีมติพิพากษายืนให้ยกฟ้อง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบชน. หลังจากก่อนหน้านี้คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อปี 2560 ก็ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด 4 คน (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชาย พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ และ พล.ต.ท.สุชาติ อดีต ผบช.น) .
ซึ่งล่าสุด "นายชำนาญ" ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตัวชั้นอุทธรณ์โดยสรุป 2 หน้าจากทั้งหมด 29 หน้า โดยนายชำนาญก็เสียงข้างมากชั้นอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้อง อดีต ผบช.น.จำเลยที่ 4 แต่มีประเด็นสำคัญการวินิจฉัยกรณีโจทก์ (ป.ป.ช.) อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้นสามารถดำเนินการเลื่อนวันประชุมรัฐสภาหรือเปลี่ยนสถานที่ประชุมเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ไว้อย่างน่าสนใจ
โดยคำวินิจฉัยส่วนตนของนายชำนาญ ระบุว่า เห็นควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา อาจเลื่อนการแถลงนโยบายหรือเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้หรือไม่ แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษนายชัยมาด้วย แต่ปัญหาดังกล่าวมีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนอกจากจะต้องวินิจฉัยถึงการกระทำผิดแล้วยังต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันความสูญเสียแก่ประเทศชาติและประชาชนที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า สาเหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนมาปิดล้อมอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ต.ค.51 เพื่อมิให้จำเลยแถลงนโยบาย เนื่องจากมีการสร้างข่าวโดยกลุ่มผู้ชุมนุมว่า หากจำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ไม่สามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้ ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ข่าวดังกล่าวเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองกับฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม พธม.
ข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การว่าการแถลงนโยบายของจำเลยที่ 1 และ ครม. ต่อรัฐสภาเป็นหน้าที่เพื่อประเทศจะได้มีครม.เข้าบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ2550 มาตรา 176 แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็น ผบ.ตร.ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ขอให้มีการเลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายของ ครม.ไป จำเลยที่ 4 แก้อุทธรณ์ว่าการเลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายของจำเลยที่ 1 และ ครม.ต่อรัฐสภาไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 4
ดังนั้นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 176 เป็นเงื่อนไขที่เป็นข้ออ้างสำคัญของฝ่ายการเมืองว่าฝ่ายข้าราชการประจำ และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนกำหนดการแถลงนโยบายเกินกว่า 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ได้ และได้ดำเนินการไปตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง เห็นว่า รธน.ฯ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ครม.ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา...ภายใน 15 วันนับ แต่วันเข้ารับหน้าที่" และในวรรคสอง บัญญัติว่า" ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ครม.ที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นได้" การพ้นจากตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกฯ และ ครม. ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดว่าการไม่แถลงนโยบายตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิด ทั้งไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 และ ครม.พ้นจากตำแหน่ง
แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และ ครม. ต้องแถลงนโยบาย ก็มีผลบังคับเพียงให้ต้องดำเนินการแถลงนโยบายโดยชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่ รธน.ฯ มาตรา 75 วรรคสองบัญญัติไว้เท่านั้น แต่มิได้บังคับว่าต้องทำภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพราะแม้ยังไม่ได้แถลงนโยบาย จำเลยที่ 1 และ ครม.ก็ยังมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นได้ ทั้งอาจมีเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องในคดีนี้ที่อาจทำให้ไม่สามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้
การยืนยันหรือฝืนสถานการณ์ที่เล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนไม่แต่เฉพาะผู้มาชุมนุม แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในสถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนั้น จึงไม่ควรได้รับการรับรองว่าถูกต้อง แม้ รธน.ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 176 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และ ครม.ที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่การจะแถลงนโยบาย ณ สถานที่ใด กำหนดเวลาใดนั้น ย่อมอาจขยายหรือย่นระยะเวลาได้ตามความจำเป็นโดยต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
การเรียกที่จำเลยที่ 1 เรียกประชุม ครม. ข้าราชการเมือง และข้าราชการประจำผู้เกี่ยวข้องที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในช่วงค่ำวันที่ 6 ต.ค.51 ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะเชื่อว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และครม. รวมทั้งนายชัย ประธานรัฐสภา ซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศมิได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของบ้านเมือง และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของจำเลยที่ 1 และครม. เป็นเหตุให้มีการเผชิญหน้า ปะทะกัน เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน งบประมาณแผ่นดิน
รวมทั้งเกิดความเกลียดชังกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นฝ่ายข้าราชการประจำ ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของฝ่ายการเมืองคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายชัย ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาในขณะนั้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ โดยขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และการไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และจำเลยที่ 4 ผบช.น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีสำหรับคำพิพากษาอุทธรณ์ฉบับเต็ม และคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะทั้ง 9 คนชั้นอุทธรณ์คดีสลายม็อบ พธม.นี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะลงเผยแพร่อย่างเป็นทางบนเว็บไซต์ศาล หลังจากมีคำพิพากษาแล้วประมาณ 1 เดือนโดยจะต้องผ่านขั้นตอนการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย