กรมสุขภาพจิต ชี้อาการ 'ซึมเศร้าหลังคลอด' ต้นเหตุแม่ฆ่าลูก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้อาการ 'ซึมเศร้าหลังคลอด' ต้นเหตุแม่ลูกอ่อนฆ่าลูก เผยหญิงตั้งครรภ์มีอาการป่วยโรคซึมเศร้า หลังคลอด เฉพาะประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 19
กระแสสังคมยังคงติดตามกรณีแม่น้องไอแอล ที่นำศพลูกไปซ่อนในตู้แล้วแจ้งความตำรวจให้ตามหา แม้จะรับสารภาพว่าลูกสำลักนมและเสียชีวิต แต่โลกโซเชียลยังคงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปมสาเหตุจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งเป็นอาการที่หญิงหลังคลอดต้องเฝ้าระวัง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่คนหนึ่งตัดสินใจชั่ววูบได้
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายถึงกรณีแม่ฆ่าลูกในภาพรวมว่า หญิงตั้งครรภ์เสี่ยงจะมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทั้งโลกจะเกิดขึ้น 15% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนประเทศไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ข้อมูลล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดประมาณ 19%
"สาเหตุมาจากภาวะร่างกายตึงเครียด ซึ่งการตั้งครรภ์นับว่าสร้างความเครียดและความเจ็บปวดให้กับร่างกายรองจากการถูกไฟคลอก อีกทั้งระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ถูกดึงลงไปอยู่กับทารก ทำให้เกิดสภาวะปั่นป่วน เกิดเป็นอาการซึมเศร้าได้" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า หญิงหลังคลอดอาจมีอาการภาวะซึมเศร้าอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เช่นหญิงหลังคลอดบางราย เมื่อคลอดลูกออกมาก็จะไม่อยากเลี้ยงลูก รู้สึกเบื่อหน่าย และเหนื่อย โดยจากอาการนี้เองทำให้มีหญิงบางส่วนที่ตัดสินใจฆ่าลูกตัวเอง แล้วมานั่งเสียใจภายหลัง เพราะตอนนั้นตัดสินใจไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
"อย่างไรก็ตามหญิงหลังคลอด หรือแม่ลูกอ่อน ครอบครัวควรช่วยเลี้ยงดูทารกอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของแม่คนเดียว เพราะจะเกิดความเครียดซ้ำซ้อน จากที่เครียดอยู่แล้วหลังคลอด และก่อนการตั้งครรภ์ควรมีการวางแผนครอบครัวอย่างเข้มงวด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง และระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้"อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งจะติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งสำคัญที่สุด หากตรวจพบอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้เร็วก็จะช่วยกันดูแลและรักษาป้องกันความเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้หน่วยงานราชการและบริษัทห้างร้านต่างๆก็ให้สิทธิ์ลาแก่ชายที่ภรรยาคลอดบุตรเพื่อให้ช่วยกันเลี้ยงดูอยู่แล้ว