ข่าว

มนัญญา ดอดตรวจ 3 สารเคมีนำเข้าย่านบางปู-บางพลัด

มนัญญา ดอดตรวจ 3 สารเคมีนำเข้าย่านบางปู-บางพลัด

03 ต.ค. 2562

"มนัญญา" ควง "บิ๊กฉกรรจ์" ดอดสุ่มตรวจ 3 สารเคมีนำเข้า เตรียมรวบรวมข้อมูลเดินหน้าแบนให้จบในปี 62

 

“มนัญญา” ควงบิ๊ก "ฉกรรจ์"ดอดสุ่มตรวจ 3 สารเคมีนำเข้า ย่านนิคมบางปู และบางพลัด เตรียมรวบรวมข้อมูลเดินหน้าแบนสารพิษจบในปี62 พร้อมเล็งเก็บภาษีแก่ผู้ส่งออกสารเคมี นำเงินภาษีส่งเสริมโครงการให้เกษตรกร

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงค์ ประธานที่ปรึกษารมช.เกษตรฯ ได้ทำทีมสุ่มตรวจบริษัทผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่าย ในย่านนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (2 ต.ค.)

 

มนัญญา ดอดตรวจ 3 สารเคมีนำเข้าย่านบางปู-บางพลัด

 

          นางสาวมนัญญา เปิดเผยว่า การเดินทางมาสุ่มตรวจสอบครั้งนี้เป็นการติดตามการแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลฟอเซต หลังมีการระงับใบอนุญาต และไม่มีการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าสารทั้ง 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแบนสารดังกล่าวให้หมดไปภายในปี 2562 ซึ่งตนพร้อมทีมงานจะเข้าสุ่มตรวจบริษัทผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่าย ทั้งหมดโดยได้เข้าสุมตรวจในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ และเดินทางไปยังบริษัทเดียวกันอีกแห่งในพื้นที่ เขตบางพลัด จ.กรุงเทพฯ ซึ่งจะเน้นตรวจสอบการนำเข้าสินค้าและวัตถุอันตรายทางการเกษตร

 

          นางสาวมนัญญา กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ได้ขอตรวจใบอนุญาตทั้ง 3 สารซึ่งบริษัทให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากข้อมูลของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม ระบุว่าปี 2561 มีการนำเข้าพาราควอต 580,000 กก. ส่วนปี 2562 ไม่มีตัวเลขแจ้งการนำเข้า แต่มีสต๊อกสารพาราควอตอยู่ 300,000 กก. ที่รับซื้อมาจากบริษัทภายในประเทศ ขณะที่ปี 2562 มีการนำเข้าไกลโฟเซต 500,000 กิโลกรัม เหลือสตอก 270,000 กิโลกรัม ส่วนบริษัทที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ไม่มีสต๊อกสารเคมีคงค้าง ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรจะเป็นคนกำหนดโควต้าสารเคมีดังกล่าว


          อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการติดตามต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว จุดประสงค์หลักคือต้องการตรวจสอบตัวเลขสต๊อกสารเคมีที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ข้อมูลซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งจากการสอบถามข้อมูลของผู้ประกอบการพบว่า การส่งออก 3 สารเคมีไปต่างประเทศ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า เพราะเป็นการให้เกษตรกรนำมาใช้ประโยชน์ และช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะที่การส่งออกก็ไม่เสียภาษี ตนจึงมองว่าเกษตรกรไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ และอาจเสนอแนวทางเก็บภาษีแก่ผู้ส่งออกสารเคมีดังกล่าว และนำเงินภาษีมาใช้ส่งเสริมโครงการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร อาทิ โครงการเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ตนจะรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ทั้งหมด และตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง ก่อนจะนำไปเสนอพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่าย ในวันจันทร์หน้าเพื่อดำเนินการหาแนวทางในการยกเลิกสารเคมีต่อไป.