มูลนิธิสืบฯ ปลุกร่วมลงชื่อ นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สร้างแคมเปญรณรงค์ ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สร้างแคมเปญรณรงค์ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20 ของไทย” เชิญชวนร่วมลงชื่อ ผ่านเว็บไซต์ “change.org” เพื่อร้องเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) โดยได้อธิบายเชิญชวน ดังนี้
นกชนหิน Rhinoplax vigil ถือเป็นสัตว์โบราณและเชื่อกันว่ามีความเก่าแก่ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของนกเงือกแห่งเอเชีย ที่ยังคงมีชีวิตอยู่มาจนถึงปัจจุบัน อาศัยในป่าดงดิบ และกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของไทย บางส่วนของพม่า เรื่อยไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
นกชนหินเป็นนกที่มีลักษณะแปลกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง มีจุดเด่นอยู่ตรงโหนกที่ตันต่างจากนกเงือกชนิดอื่น และนั่นเองทำให้ถูกมนุษย์ตีราคาอวัยวะชิ้นนี้ไม่ต่างจากงาช้าง โดยให้ชื่อว่า “งาช้างสีเลือด” กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้มีความเชื่อผิดๆ นิยมบูชางาเป็นวัตถุมงคลแห่งความมั่งคั่ง
เนื่องด้วยในช่วงปีที่ผ่านมามีการพบการค้านกเงือกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะนกชนหิน Rhinoplax vigil ทางองค์กร TRAFFIC จึงได้ทำการสำรวจติดตามและศึกษา เพื่อประเมินและประมาณขนาดของการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ บนช่องทางสื่อสังคมออนไลน์หรือ เฟซบุ๊ก ทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทย โดยทุกกลุ่มเป็นกลุ่มที่เสนอขายผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าต่างๆ การค้าชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ จากนกเงือกนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
สำหรับประเทศไทย โดยข้อมูลที่ TRAFFIC พบจากการสำรวจติดตามเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 - เมษายน 2562 มีประเด็นสำคัญดังนี้
พบการโพสต์เสนอขาย อย่างน้อย 236 โพสต์ ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น ในกลุ่ม 32 กลุ่ม จากทั้งหมด 40 กลุ่มที่ทำการสำรวจติดตาม
โพสต์ทั้งหมดถูกเสนอขายในช่วงเวลา 64 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562
นกชนหิน คิดเป็นสัดส่วน 83% จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมด
แบ่งหมวดหมู่ของชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกที่ถูกเสนอขายออกเป็น 8 หมวดใหญ่ ได้แก่ โหนกหัว, จี้ห้อยคอ, แหวน, สร้อยคอ, กำไลข้อมือ, หัวเข็มขัด, นกสตาฟ และชิ้นส่วนย่อยอื่นๆ
การล่าพ่อนกหนึ่งตัว นั่นหมายถึงการฆ่ายกครัว เพราะแม่และลูกที่ยังไม่ฝักออกมาจากไข่หรือมีอายุยังน้อยจะไม่สามารถหาอาหารกินเองได้ นอกจากกิจกรรมการล่าแล้ว นกเงือกยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยังคงคุกคามพวกมันอย่างต่อเนื่อง ทั้งศัตรูตามธรรมชาติ ภาวะการขาดแคลนโพรง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่ออาหารของนก และการทำลายถิ่นอาศัยตามธรรมชาติจากเงื้อมมือมนุษย์
ปัจจุบัน นกชนหินมีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ว่า "ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง "CriticalEndangeredSpecies" จากการจัดสถานภาพของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ของสหภาพว่า ด้วยการอนุรักษ์สากล/ IUCN จำนวนนกชนหินแทบจะหมดไปจาก บอร์เนียว อินโดนีเซีย และพื้นที่อื่นๆทีเคยพบชุกชุม
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้สถานภาพของนกชนหิน ซึ่งเป็น 1 ใน 13 ชนิดของกลุ่มนกเงือกในไทย คาดว่าจะมีประชากรประมาณ 50 - 80 คู่ โดยพบการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส ดังนั้นความต้องการทางตลาดจึงพุ่งเป้ามาที่นกชนหินบ้านเรา ขณะนี้เริ่มมีขบวนการล่านกชนหินอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ บูโดสุไหงปาดี นราธิวาส กำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพียงน้อยนิด อาจไม่สามารถป้องปรามภัยคุกคามนี้ได้ ทำให้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเป็นใยนกชนหินว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ “สนับสนุนให้นกชนหินเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 20 ของประเทศไทย”
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้นกชนหินได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนตัวที่ 20 ของประเทศไทย และมีแผนการจัดการ อนุรักษ์ ปกป้องนกชนหินให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ ร่วมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนต่อการ ฟื้นฟูประชากรนกชนหินให้มีจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการประกาศนกชนหินให้เป็นสัตว์สงวน จึงจำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทุกพลังของเราจึงมีความหมาย และนี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายของนกชนหินที่จะอยู่รอดอย่างยั่งยืนกับคนไทยต่อไป
#SaveHornbill