แพทย์มข.แนะรับมือโรคภูมิแพ้หน้าหนาว
แพทย์มข.แนะออกกำลังกายพักผ่อนเพียงพอ รับมือโรคภูมิแพ้หน้าหนาว หลีกเลี่ยงสัมผัสเกสร-ฝุ่นละออง ควันรถยนต์ สิ่งกระตุ้นอื่นๆชี้ป่วยโรคภูมิแพ้กว่า10ล้านคน
ศูนย์อีสาน-ข่าวและภาพโดย จิติมา จันพรม
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และที่ปรึกษารักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย พญ.สุภวรรณ เลาหศิริวงศ์ รองหัวหน้าภาควิชา โสต ศอ นาสิกวิทยา ด้านงานบริการ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น แถลงข่าว มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง การรับมือโรคภูมิแพ้ เมื่อ 31 ต.ค.2562
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวว่าโรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นในบุคคลบางคน เนื่องจากร่างกายของผู้นั้นมีปฏิกิริยาต่อสารที่เข้าไปในร่างกายผิดไปจากคนส่วนใหญ่ พบโรคกลุ่มนี้ได้บ่อยในประชากรทั่วโลกรวมทั้งชาวไทยด้วย อาการของโรคภูมิแพ้เกิดขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสารจากภายนอกเข้าไปในร่างกาย กับภูมิแพ้ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นภายหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปกระตุ้น
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจทำให้เกิดโรคขึ้นได้ในหลายระบบอวัยวะที่ตอบสนอง อาจแสดงออกในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด แสดงออกทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ หรือทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน อุจจาระร่วง บางรายเกิดปฏิกิริยารุนแรงจนทำให้เกิดอาการหลายระบบพร้อมกัน เช่น มีอาการช็อก หายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิตได้ ภาวะเช่นนี้เรียกว่านาฟัยแลกซิส ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อนาคตจะมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นแต่หากผู้ป่วยมีการดูแลรักษาตัวเองอย่างถูกวิธี สามารถบรรเทาอาการหรือหายขาดจากโรคได้
พญ.สุภวรรณ เลาหศิริวงศ์ กล่าวว่า โรคภูมิแพ้เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้มีความผิดปกติ ซึ่งในร่างกายคนปกติจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ได้น้อยมาก หรืออาจจะไม่มีอาการ แต่ในผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แต่ละรายจะมีอาการเกิดขึ้นแตกต่างกันและรุนแรงไม่เท่ากัน แม้จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันก็ตาม ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของอวัยวะนั้น ๆ
ส่วนสาเหตุของโรคภูมิแพ้เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เกิดจากการติดเชื้อซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้มีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเครียดเป็นเวลานาน การอดหลับอดนอน การสูบบุหรี่ หรือเกิดจากการอยู่กับสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารจากไรฝุ่น ฝุ่นบ้าน สะเก็ดจากแมลงสาบ สารจากขนแมว ขนสุนัข ละอองเกสรดอกไม้ ต้นไม้ ต้นหญ้า วัชพืช และสปอร์จากเชื้อรา
การป้องกันโรคภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ กรณีแพ้ตัวไรฝุ่น ควรนำเครื่องนอนออกไปโดนแสงแดดทุก 15 วัน เปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องเข้ามาในห้อง เพราะตัวไรฝุ่นจะตายเมื่อโดนแสงแดด ห้องนอนไม่ควรปูพรม ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศแอร์ หรือใบพัดลมทุกสัปดาห์ กรณีแพ้ขนสุนัข หรือขนแมว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัข หรือขนแมว ไม่ควรเลี้ยงสุนัขหรือแมว กรณีแพ้แมลงสาบ ควรทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปราศจากเศษอาหาร หรือใช้ยากำจัดแมลงสาบ
กรณีแพ้ละอองเกสร ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเกสรทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีแพ้เชื้อรา ควรรักษาความสะอาดร่างกายไม่ให้มีจุดอับชื้น ในห้องนอนไม่ควรมีต้นไม้ที่ต้องรดน้ำ เพื่อไม่ให้มีแหล่งกำเนิดเชื้อรา นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงและอยู่ห่างไกลจากฝุ่นละออง ควันรถยนต์ในชั้นบรรยากาศ ควันก๊าซจากโรงงาน หรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ควันบุหรี่ เป็นต้น รวมทั้งหมั่นระวังอาหารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะจะทำภูมิต้านทานดีขึ้น อาการภูมิแพ้ลดลง ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพทั่วไปดีขึ้น และยังลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
พญ.สุภวรรณ กล่าวอีกว่า บางประเทศจะเป็นภูมิแพ้ตามฤดูกาลที่แพ้เกสรดอกไม้ แต่คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นภูมิแพ้ตลอดปีหรือทุกฤดูกาล จากอากาศหรืออุณหภูมิและความชื้นมากกว่า โดยในช่วงหน้าหนาวก็จะมีผู้ป่วยมากขึ้น มีภูมิแพ้อากาศเยอะ
ขณะเดียวกันก็มีดอกไม้บางชนิดออกช่วงหน้าหนาว เช่นดอกตีนเป็ดที่กลิ่นค่อนข้างฉุน อาจจะมีบางคนเกิดอาการแพ้ ที่อาจจะแยกยากว่าแพ้อากาศหรือแพ้เกสร จึงจำเป็นต้องระมัดระวังหลีกบริเวณต้นตีนเป็ด ซึ่งในบริเวณมหาวิทยาลัยขอนแก่นเองนั้น ได้มีการตัดต้นตีนเป็ดเพราะนักศึกษาบุคลากรหลายคนได้รับความเดือดร้อน กลิ่นฉุนมาก ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการแพ้หรือไม่ แต่ก็ต้องป้องกันไว้ก่อน แม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถทดสอบอาการแพ้จากเกสรต้นตีนเป็ด แต่อนาคตก็น่าจะทำการวิจัยเพิ่มเติม