ข่าว

รักษ์เจ้าพระยา 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์

รักษ์เจ้าพระยา 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์

11 พ.ย. 2562

สภากทม. รณรงค์รักษ์เจ้าพระยา 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์

 

               เวลา 09.30 น. วันที่ 11 พ.ย.2562 นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกัน

 

               นำคณะกรรมการวิสามัญ ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักเทศกิจ สำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักงานเขตพื้นที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์ และผู้แทนจากกองทัพเรือ

 

รักษ์เจ้าพระยา 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์

 

               ลงพื้นที่ฝั่งพระนครตั้งแต่บริเวณประตูระบายน้ำปากคลองตลาด ผ่านโรงเรียนราชินี สิ้นสุดที่บริเวณท่าช้าง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนที่พักอาศัยริมน้ำแม่น้ำงดทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียลงในแม่น้ำเจ้าพระยา

 

               โดยคณะรณรงค์ได้ร่วมกันแจกสติกเกอร์ “รักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา” บริเวณท่าเตียน เพื่อให้ชาวชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมเป็นกำลังหลักในการรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสายน้ำแห่งชีวิตของแผ่นดิน

 

รักษ์เจ้าพระยา 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์

 

               นอกจากนี้จะจัดให้มีการเสวนาภาคประชาชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี ในวันที่ 25 พ.ย. 2562 เวลา 09.00 น ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเครือข่ายประชาชนให้ร่วมกันมีส่วนรับผิดชอบในการดูแลรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

 

               นายไพฑูรย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ของคณะฯ ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 หลังจากการลงพื้นที่ฝั่งธนบุรีจากสะพานพระพุทธยอดฟ้าถึงวัดกัลยาณมิตร เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความใส สะอาด สวยงาม ปราศจากขยะ

 

               โดยขอความร่วมมือ งดทิ้งขยะ น้ำเสียคงแม่น้ำ คู คลอง ติดตั้ง ถังดักไขมัน และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำเจ้าพระยาและไม่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยา

 

               โดยคณะฯ ได้กำหนดทิศทางให้ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารต่างๆ และประชาชน มีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งระบบรวมและระบบภาคประชาชน ชุมชน ให้เข้าสู่ระบบการบำบัดน้ำเสีย

 

รักษ์เจ้าพระยา 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์

 

               อย่างไรก็ดี การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และประชาชน ในการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา เส้นทางการคมนาคมทางน้ำสายหลัก ของกรุงเทพมหานครทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของภาคกลาง ทั้งในด้านการเดินทางและวิถีการดำรงชีวิต

 

               นอกจากนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง ประกอบกับในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเส้นทางหลักในการไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำอื่นๆ จำนวนมาก

 

               กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนประชาชน และทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนให้แม่น้ำเจ้าพระยาคืนสู่ความสะอาดสดใสและเป็นธรรมชาติ อันจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น "แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมระดับโลก” ตามที่กองทุนโบราณสถานโลกได้ประกาศให้ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 28 สายน้ำประวัติศาสตร์ที่เป็นแหล่งมรดก ทางวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-งดส่งน้ำทำนาปรังลุ่มเจ้าพระยา

-กทม.จัด จนท.กว่า 200 คน เก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา