ข่าว

ขนน้ำดื่ม 8 แสนลิตร แจก 30 จว. แก้แล้ง

ขนน้ำดื่ม 8 แสนลิตร แจก 30 จว. แก้แล้ง

17 ม.ค. 2563

กรมน้ำระดมเครื่องสูบช่วยระบบประปา - แจกน้ำดื่ม 8 แสนลิตร 30 จังหวัดแล้ง โฆษกรัฐบาลโต้ข่าวป้ายสีขุดบาดาลบ่อละ 6 ล้านบาท ยันงบ 3 พันล้านแก้ภัยแล้งทั้งระบบ

 

               เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563  นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาครัฐเร่งเดินหน้าเต็มกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

 

 

 

               โดยความร่วมมือในการทำงานของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งสร้างกระบวนการรับรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำตามแผนงานให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ในการดำเนินงานแก้ไขภัยแล้งที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ได้ประสานความช่วยเหลือทั้งด้านงบประมาณและกำลังพลเข้าดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองทัพบก กรมชลประทาน และกองบัญชาการกองทัพไทย

               นายภาดล กล่าวว่า พร้อมกันนี้ภาครัฐ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563 และการเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำลงรับฤดูฝนปี 2563 โดยการรณรงค์ประหยัดน้ำในทุกภาคส่วน เน้นด้านอุปโภคบริโภคควบคู่กับการรักษาคุณภาพน้ำ

 

 

 

               ในด้านการเกษตรได้รณรงค์ให้เกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัดและหมุนเวียนการใช้น้ำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด การสร้างความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรให้ใช้น้ำตามแผน และการควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด ในภาคอุตสาหกรรมมีการรณรงค์การใช้น้ำตามหลักการจัดการน้ำเสีย 3R คือ ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และควบคุมการทิ้งน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ ทั้งนี้ มีการเพิ่มแหล่งเก็บน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนด้วยการปรับปรุงซ่อมแซมพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ พัฒนาแก้มลิงให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน

               “ล่าสุด ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ 30 จังหวัด เพื่อใช้ในการสูบน้ำช่วยเหลือระบบประปาและการอุปโภคบริโภคประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร และแจกจ่ายน้ำสะอาดกว่า 8 แสนลิตร ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนแล้วประมาณ 1 ล้านคน พร้อมทั้งเร่งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรไม้ผลแล้วประมาณ 85,000 ไร่ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ตั้งจุดจ่ายน้ำถาวร จำนวน 136 จุด หน่วยนาคราช จำนวน 37 หน่วย รถบรรทุกน้ำ 79 คัน พร้อมด้วยชุดขุดเจาะน้ำบาดาล 85 ชุด ชุดปรับคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 18 ชุด” นายภาดล กล่าว

 

 

 

               ที่ ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา อนุมัติการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางจำนวน 3,079 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อนำไปแก้ปัญหาภัยแล้งในภาพรวม ปรากฏว่า เกิดกระแสข่าวลื่อในสื่อโซเชียลว่างบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการขุดบ่อบาดาล 500 บ่อ ราคาบ่อละ 6 ล้านบาทนั้น นายกรัฐมนตรีฝากชี้แจงว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอมซึ่งถ้าใครนำไปเผยแพร่เข้าสู่ระบบก็จะให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

 

 

               ด้าน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตามที่มีปรากฏเป็นข่าวการขอใช้งบกลางปี 2563 บ่อบาดาลมีราคาแพงนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลขอชี้แจงว่า ในการอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,079 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภค เป็นการจัดสรรให้หน่วยงานรวมทั้งสิ้น 6 หน่วยงาน ได้แก่ 1. การประปานครหลวง 2. การประปาส่วนภูมิภาค 3. หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. กองทัพบก 6. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมงบประมาณในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านน้ำอุปโภคบริโภคครั้งนี้ 3,079 ล้านบาท มีจำนวนโครงการที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน 2,041 โครงการ

 

 

 

               สำหรับการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลที่ดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ 1. หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 2. กองทัพบก 3. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยมีจำนวนบ่อรวมกันทั้งสิ้น 1,103 บ่อ งบประมาณที่ได้รับ 1,301 ล้านบาท โดยเป็นการขุดบ่อบาดาลที่มีความลึกมากกว่า 100 เมตร และในบางบ่อมีความลึกมากกว่า 350 เมตร แต่ละบ่อผลิตน้ำได้เดือนละ 53,760 ลูกบาศก์เมตร โดยมีขนาดบ่อบาดาล ตั้งแต่ขนาด 6 นิ้ว 8 นิ้ว และ 10 นิ้ว

               “สำหรับงบประมาณ 3,079 ล้านบาทนั้น ครอบคลุมโครงการสำหรับการแก้ปัญหาภัยแล้งจำนวน 2,041 โครงการ ซึ่งในส่วนนี้มีโครงการขุดบ่อบาดาลจำนวน 1,103 บ่อ โดย 3 บ่อจะอยู่ในสถานพยาบาล และอีก 1,100 บ่อ จะอยู่เขตนอกพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค โดยจะแยกเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูงใน 1,270 หมู่บ้าน จะมีการขุดเจาะ 577 บ่อ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 526 บ่อ รวมเป็น 1,103 บ่อ ทั้งนี้ ยังมีการหาแหล่งน้ำผิวดินอีก 230 โครงการ โครงการซ่อมแซมประปา 650 กว่าโครงการ รวมเป็น 2,041 โครงการ ดังนั้น งบประมาณที่ใช้ขุดเจาะบ่อบาดาลจึงไม่ใช่ราคาบ่อละ 6 ล้านบาทตามที่มีข่าว” นายศักดิ์ดา กล่าว