ผู้เชี่ยวชาญจีนเตือน "ท่อระบายน้ำ" อาจแพร่ไวรัส โควิด-19
เตือนหมั่นตรวจตราท่อน้ำเสียไม่ให้อุดตัน เนื่องจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจแพร่กระจายผ่านระบบระบายน้ำ
จงหนานซาน ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจชื่อดังของจีน กล่าวเตือนสาธารณชนหมั่นตรวจตราท่อน้ำเสียไม่ให้อุดตัน เนื่องจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคไวรัสโคโรน่า 19 หรือ โควิด-19 (COVID-19) อาจแพร่กระจายผ่านระบบระบายน้ำ
อ่านข่าว - 3 คนไทยบนเรือสำราญไดมอนด์พรินเซสส์ติดเชื้อ โควิด-19
จง แถลงข่าวในนครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันอังคาร (18 กุมภาพันธ์) ว่า หากท่อน้ำเสียอุดตัน อากาศที่ปนเปื้อนหรือละอองในอากาศที่มีเชื้อไวรัส โควิด-19 อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ทั้งนี้ จงหนานซาน เป็นหัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อการควบคุมและป้องกันไวรัส โควิด-19 และเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมวิจัยของ จง ประกาศว่าสามารถคัดแยกสายพันธุ์ไวรัส โควิด-19 จากตัวอย่างอุจจาระของผู้ติดเชื้อ ก่อให้เกิดกระแสสงสัยการแพร่กระจายอุจจาระ - ปาก (fecal - oral transmission)
“ผมไม่คิดว่าผู้คนจะกลืนกินไวรัสทางปาก แต่อาจสูดลมหายใจเข้าไป” จง กล่าวพร้อมเสริมว่า โรงพยาบาลต่างๆ ควรใส่ใจท่อระบายน้ำ
จง กล่าวว่า กรณีนี้เคยเกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อประชาชนในชุมชนที่อยู่อาศัยของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีนกว่า 300 คน ติดโรคซาร์ส (SARS) เนื่องจากการออกแบบระบบท่อน้ำเสียที่บกพร่องก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัส
ขณะที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีการอพยพครัวเรือนนับสิบในอาคารที่อยู่อาศัยย่านชิงอี (Tsing Yi) ของฮ่องกง หลังจากพบผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 จำนวน 2 ราย ซึ่งอาศัยอยู่ต่างชั้นกันในอาคารหลังดังกล่าว
ปัจจุบันทางการท้องถิ่นยังคงสืบสวนว่าผู้ติดเชื้อทั้งสองรายติดเชื้อได้อย่างไร ด้านกลุ่มผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าท่อระบายน้ำที่ถูกดัดแปลงอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ