ไม่มีผู้ป่วย โควิด-19 รายใหม่ - คุมเข้มเน้น 8 จว.ท่องเที่ยว
ยอดผู้ป่วย โควิด-19 สะสมคงเดิม 35 คน หายป่วยแล้ว 20 คน เหลือนอน รพ. 15 คน สธ. ไม่ห้ามแต่แนะหลีกเลี่ยง - ชะลอเดินทางไปประเทศที่มีรายงานการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019
22 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าผู้ป่วยไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) พบว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย กลับบ้านแล้ว 20 ราย รวมสะสม 35 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม - 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,252 ราย คัดกรองจากสนามบิน 60 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,192 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,006 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 246 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกใน 30 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม - 22 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 77,286 ราย เสียชีวิต 2,252 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 75,903 ราย เสียชีวิต 2,237 ราย
อ่านข่าว - "บาห์เรน" ห้ามคนต่างชาติที่มาเมืองไทยเข้าประเทศ
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีข่าวดี วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านได้เพิ่มอีก 1 ราย เป็น ชายไทย อายุ 24 ปี รักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มคนไทยจากอู่ฮั่นกลับบ้าน 138 คน ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันรักษาหายกลับบ้านแล้ว 20 ราย เหลือนอนในโรงพยาบาล 15 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 35 ราย เท่าเดิม ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม ส่วนใหญ่อาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่ใช้เครื่องเอคโม (ECMO) หรือ เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด และรายที่เป็นวัณโรคร่วมด้วย อาการคงที่ ยังอยู่ในห้องไอซียู ทีมแพทย์ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
วันนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ครบ 50 วัน ได้เริ่มคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ในขณะนั้นยังไม่มีรายงานการระบาดจากคนสู่คน จึงขอให้ประชาชนมั่นใจระบบเฝ้าระวังควบคุมโรคของไทย ซึ่งยังเข้มมาตรการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เริ่มการคัดกรองทุกสนามบินที่มีเที่ยวบินตรงมาจากเมืองที่มีการระบาด ทำให้ตรวจพบผู้ป่วยยืนยันนอกประเทศจีนรายแรกของโลก โดยรัฐบาลได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการระดับประเทศ และคณะกรรมการอำนวยการโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคีเพื่อความปลอดภัยและลดผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เตรียมความพร้อมรับมือหากเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการระบาดในวงกว้างในประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังอยู่ในระยะที่ 2 ก็ตาม โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงาน เข้มมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทาง ทั้งที่ท่าอากาศยาน ท่าเรือ ด่านพรมแดนทางบก รวมทั้งการเฝ้าระวังในประเทศ เน้นใน 8 จังหวัดท่องเที่ยว
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมความเสี่ยงในประเทศขณะนี้ยังต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังควบคุมสถานการณ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้ยืดระยะเวลาที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากออกไปให้นานที่สุด สิ่งสำคัญคือความร่วมมือ และความเข้าใจของคนไทย จะต้องไม่ตื่นตระหนก ไม่เชื่อข่าวลวง งดแชร์ข้อมูลที่เป็นเท็จที่แชร์ต่อกันมา ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานหรือไม่ ก็จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ โดยหากมีไข้ร่วมกับอาการไอ จาม มีน้ำมูก ต้องพักอยู่ที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปพบแพทย์ ผู้ที่ไม่ป่วยขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ ไม่นำมือมาสัมผัสใบหน้า จมูก ปาก สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนทำงานใกล้ชิดนักท่องเที่ยว ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง หากมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ จาม มีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์
สำหรับคำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ควรปฏิบัติตนดังนี้ 1. ก่อนการเดินทาง ขอให้หาข้อมูลสถานการณ์การระบาดของประเทศปลายทาง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค หรือ องค์การอนามัยโลก หากไม่จำเป็นขอให้พิจารณาหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดต่อเนื่องตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศ แต่หากจำเป็นต้องไปขอให้เตรียมความพร้อมเรื่องการป้องกันตนเอง เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย และศึกษาคำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อ
2. ระหว่างการเดินทาง ขอให้ระมัดระวังตนเองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนรวมกันอยู่จำนวนมากหรือที่สาธารณะ ขอให้หมั่นล้างมือ อย่าขยี้ตา แคะจมูก ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน หากเจ็บป่วยให้ประสานขอความช่วยเหลือกับสถานทูต
3. เมื่อเดินทางกลับ ประเทศไทยไม่มีนโยบายการกักตัวผู้เดินทางที่สนามบิน แต่มีมาตรการการตรวจคัดกรองและการเฝ้าระวังต่อเนื่องจนครบ 14 วัน หากมีอาการป่วยระหว่างเข้าประเทศ จะถูกแยกตัวไว้เพื่อตรวจวินิจฉัยและส่งไปที่โรงพยาบาลที่กำหนด แต่หากไม่มีอาการป่วยจะได้รับบัตรคำเตือนสุขภาพพกติดตัวไว้ เมื่อกลับบ้านแล้วมีอาการสงสัยป่วยขอให้สวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ทุกวัน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
กรณีที่หลายหน่วยงานมีการออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานตนเดินทางไปประเทศที่พบการระบาดของโรคนั้น ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เป็นความห่วงใยแต่ละหน่วยงาน โดยกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ในสังกัดเดินทางไปต่างประเทศ แต่ขอให้พิจารณาชะลอหรือเลื่อนการเดินทางในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของบุคลากร
ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่สะอาดเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ผู้ป่วยและผู้ที่มีอาการ ไอ จาม ควรใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ สำหรับหน้ากากอนามัยประเภท N95 จะใช้ในเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาใกล้ชิดกับผู้ป่วย