พบคนไทยป่วย โควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย
กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้า สถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พบคนไทยป่วย โควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย
25 กุมภาพันธ์ 2563 แถลงความคืบหน้า สถานการณ์ โรคไวรัส โควิด-19 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
อ่านข่าว - คลิปโดรนเผยชาวเมืองแทกูต่อแถวยาวเฟื้อยซื้อหน้ากากอนามัย
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกถึงสถานการณ์ โควิด-19 พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าเพิ่ม 2 ราย รายที่ 1 เป็นหญิงไทย อายุ 31 ปี อาชีพแม่บ้าน ขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ แพทย์ได้ซักประวัติเพิ่มเติมพบประวัติสมาชิกในครอบครัวเดินทางกลับจากประเทศจีน รายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 29 ปี อาชีพทำงานสัมผัสใกล้ชิดนักท่องเที่ยวชาวจีน มาอาการด้วยอาการ ไข้ ไอ รับรักษาอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร และมีผู้ป่วยที่หายเป็นปกติ สามารถกลับบ้านได้อีก 1 ราย จังหวัดกระบี่ เป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน อายุ 32 ปี ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ได้เดินทางเข้าประเทศไทยก่อนที่ประเทศจีนจะปิดสนามบินอู่ฮั่น
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคได้ทำการสอบสวนและเก็บตัวอย่างจากผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทั้ง 2 ราย เพื่อส่งตรวจต่อไป และในบ่ายวันนี้จะนำข้อมูลผู้ป่วยและการสอบสวนโรคเบื้องต้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้านต่อไปเพื่อพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้งทำให้ขณะนี้ มีผู้ป่วยยืนยัน รวม 37 คน กลับบ้านได้ 22 คน คิดเป็นร้อยละ 60 ผู้ป่วยยืนยัน รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 15 คน
การพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่กระทรวงสาธารณสุขปรับนิยามการเฝ้าระวังคัดรองตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยขยายพื้นที่ครอบคลุมประเทศเสี่ยงใหม่ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และ 8 จังหวัดของไทย คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย สมุทรปราการ กระบี่ ภูเก็ต ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์
ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า การประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย อยู่ภายใต้การควบคุมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคน บุคลกรทารการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ความสามารถอำนาจหน้าที่ บังคับใช้กฎหมาย ในการควบคุมการระบาดของโรคนี้ ไม่ให้เพิ่มมากขึ้น อย่างประเทศเกาหลีใต้ที่มี "ซูเปอร์สเปรเดอร์ (Super spreader)" บุคคลที่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้จำนวนมากในครั้งเดียว
ถึงแม้ตอนนี้ประเทศไทยจะมีการระบาดถึงแค่ระยะที่ 2 แต่กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมการระบาดระยะที่ 3 คือ เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับทั้งหมด 4 ที่ คือ โรงพยาบาลราชวิถี / โรงพยาบาลเด็ก / สถาบันบําราศนราดูร และโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ โควิด-19 ถ้าระบาดในประเทศถึงระยะที่ 3
สรุปสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย กลับบ้านแล้ว 22 ราย รวมสะสม 37 ราย
ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม - 24 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 1,580 ราย คัดกรองจากสนามบิน 70 ราย มารับการรักษา ที่โรงพยาบาลเอง 1,510 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,160 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 420 คน
ส่วนกรณีการนำช้อน ส้อม ไปลวกในหม้อน้ำร้อนตามศูนย์อาหาร ทำให้เรามีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่ นพ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า เป็นความจริงเพราะน้ำร้อนในหม้อตามศูนย์อาหารจะมีอุณหภูมิแค่ 40 - 50 องศาฯ ซึ่งเป็นความร้อนที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ขณะเดียวกันการต้มน้ำด้วยอุณหภูมิดังกล่าวซ้ำยังทำให้มีเชื้อโรคเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากอยากจะให้ภาชนะที่ใช้ตักอาหารสะอาดปราศจากเชื้อโรค ต้องต้มในน้ำร้อนอุณหภูมิ 80 - 90 องศาเซลเซียส และต้องแช่ไว้นานถึง 4 นาที ถึงจะปลอดภัยจากเชื้อโรค