สธ. เผยติดเชื้อ โควิด-19 เพิ่มอีก 6 ราย
แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคโควิด-19 พบติดเชื้อเพิ่มอีก 6 ราย แต่ไทยยังคงอยู่ระยะ 2
เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 11 มีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ว่า ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 6 ราย ได้แก่
อ่านข่าว - ด่วน "ตำรวจ ตม.สุวรรณภูมิ" ติดโควิด-19
1. ชาย อายุ 21 ปี เจ้าหน้าที่ทำงานภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มป่วย 8 มีนาคม ด้วยอาการมีไข้ น้ำมูก ปวดศีรษะ ตรวจห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ยืนยันตรงกันติดเชื้อโรคโควิด-19 รักษาที่ รพ. สังกัด กทม.
2. ชาย อายุ 40 ปี ทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ป่วยเมื่อ 7 มีนาคม อาการไข้ ไอ มีเสมหะ เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ตรวจห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง พบเชื้อโรคโควิด-19
ทั้งสองรายทำงานคนละจุดไม่เกี่ยวข้องกัน มีประวัติทำงานเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สัมผัสสิ่งของผ่านมือจากนักท่องเที่ยวหลายคน เช่น สัมภาระ หรือ พาสปอร์ต หากเป็น ตม.
3. ชายไทย อายุ 25 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ป่วยมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ รักษาตัวอยู่ที่ รพ.เอกชน แพทย์เอกซเรย์พบปอดอักเสบ เข้านิยามปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ จึงตรวจเชื้อและพบเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ขณะนี้อยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร
ทั้งนี้ รายที่ 3 ติดเชื้อในประเทศ ไม่ต่างจากรายที่ 1 และ 2 คือ การทำงานมีโอกาสเจอคนต่างชาติ เดินทางไปในหลายจุด บางทีเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงอาจมีพบปะต่างชาติ เป็นวิศวกร อาจลงพื้นที่ และกำลังสอบสวนหาจุดไหนความเสี่ยงสูงสุด และเฝ้าระวังผู้ร่วมงาน แต่ไม่สามารถระบุชัดว่าเป็นกลุ่มไหน และดูว่ามีผู้ป่วยทางเดินหายใจเพิ่มหรือไม่ เช่นเดียวกับ 2 คนที่สุวรรณภูมิ ระบุไม่ได้ แต่บอกได้ว่าลักษณะการทำงานมีความเสี่ยง กระนั้น ภาพรวมยังเป็นการรับเชื้อจาก imported case อยู่ และไทยยังไม่เจอการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์
4. หญิงไทย อายุ 27 ปี กลับจากเกาหลีใต้ เข้า รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการไข้ ไอ น้ำมูก เมื่อ 8 มีนาคม พบเชื้อ ส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม) รายนี้มีประวัติเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ประกาศเป็นเขตพื้นที่โรคติดต่ออันตราย
5. ชายไทย อายุ 40 ปี กลับจากญี่ปุ่น เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ ขณะอยู่ที่นั่นประสบอบัติเหตุล้มแล้วข้อมือแตก กลับมารักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตรวจผลห้องปฏิบัติการพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19
6. ชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี เจ้าของกิจการใน กทม. เริ่มป่วย 6 มีนาคม อาการไอ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ไปรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ผลตรวจเป็นบวก ส่งต่อไปที่สถาบันบำราศนราดูร โดยรายนี้เป็นชาวต่างชาติ ไปมาหาสู่ติดต่อกับคนชาติเดียวกัน และชาติอื่น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าติดจากใคร
สรุป ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 59 ราย ที่รักษาหายแล้ว 34 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ส่วนพนักงานแกร็บที่มีข่าวติดเชื้อหลังมากรุงเทพฯ สรุปว่าไม่ได้ติดเชื้อในประเทศไทย เนื่องจากมาทำงานที่ กทม. วันเดียว น่าจะได้รับเชื้อก่อนหน้านั้น อีกทั้งเคยไปอังกฤษมาก่อนด้วย ผลสอบสวนผู้สัมผัสโรค 84 คน ไม่มีใครป่วย และผลตรวจห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ
ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรค ได้เพิ่มประเทศสเปนเป็นอีก 1 ประเทศเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศนี้เมื่อกลับมาไทยแล้ว แนะนำให้กักตัวเอง แยกตัวเฉพาะ แยกสำรับอาหาร วัดไข้ทุกวัน หมั่นสังเกตอาการ หากมีไข้รีบพบแพทย์ทันที และยังขอความร่วมมือเลี่ยงการเดินทางเพื่อไม่ให้เสี่ยง แต่หากต้องเดินทางควรระมัดระวังให้มากขึ้น ไม่ไป รพ. ในประเทศนั้นๆ โดยไม่จำเป็น ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น
ส่วนกรณีแรงงานนอกระบบเกาหลีใต้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบตอนนี้มี 241 คน เป็นผู้ชาย 104 คน ผู้หญิง 137 คน โดยในกลุ่มนี้มีกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือ หญิงตั้งครรภ์ 6 คน เด็กเล็ก 5 คน และคนที่มีโรคประจำตัว 18 คน ทุกคนตอนนี้มีอาการดี ไม่มีไข้ แต่ก็ต้องอยู่เฝ้าระวังโรคต่อไปจนกว่าจะครบกำหนด 14 วัน
กรณีเรื่องการใช้หน้ากากอนามัย ทางอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ บอกว่า หน้ากาก N95 เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัยเหมาะสำหรับผู้มีอาการป่วยทางเดินหายใจและบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนหน้ากากผ้าจะเหมาะกับคนที่ความเสี่ยงต่ำ ประชาชนที่ไม่ป่วย
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าหน้ากากผ้าจะมีสามารถป้องกันได้จริงไหม ทางกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้รับมอบหมายนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปศึกษาว่าหน้ากากผ้าป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ จึงได้นำผ้าฝ้ายดิบ ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้านาโน และผ้าสารู มาทดสอบโดยใช้มาตรฐานเหมือนกับหน้ากากอนามัยและหน้ากาก N95 มาเปรียบเทียบว่า หน้ากากผ้าจะป้องกันได้หรือไม่ได้อยู่ที่อนุภาคขนาดเล็กผ่านหน้ากากได้มากแค่ไหน / การซึมผ่านน้ำและละอองฝอย / สามารถซักได้หลายๆ ครั้ง / สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ราคาไม่แพง
กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ใช้ 4 หลักเกณฑ์นี้ในการทดสอบพบอนุภาคขนาดเล็กที่ผ่าน พบว่า ผ้าฝ้ายดิบ / ผ้าฝ้ายมัสลิน / ผ้านาโน มีคุณสมบัติป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้ดี แต่ที่ป้องกันดีที่สุดคือ ผ้านาโน ผ้าฝ้ายมัสริน ถ้ามี 2 ชั้น ก็จะยิ่งดีจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัย การดูแลเรื่องของการซึมผ่านน้ำ พบ ผ้าสารู ผ้าฝ่ายมัสลิน มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดีกว่า ผ้านาโน ผ้าฝ้ายดิบ ส่วนการนำไปซักล้าง พบว่า ซักผ้านาโน 10 ครั้ง เส้นใยเริ่มเสื่อมสภาพลง แต่ผ้าฝ้ายมัสลิน ผ้าสารู ซักไป 100 ครั้ง คุณสมบัติยังดี
ดังนั้น การกรองคุณภาพขนาดเล็ก การป้องกันซึมผ่านละอองน้ำ การนำไปซักล้างใหม่หลายๆ ครั้ง ผ้าที่ดีที่สุดคือ ผ้าฝ้ายมัสลิน หาซื้อได้ง่าย มีความเหมาะสมที่จะทำหน้ากากผ้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า ผู้ป่วยที่ดูแลที่รับมาตากโรงพยาบาลเลิดสิน มาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี ขณะนี้ไม่พบเชื้อโรคโควิด-19 แต่ต้องอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูร่างกายและรอกลับบ้าน ส่วนในเรื่องของยา ฟาวิพิราเวียร์ ที่เราได้รับมา ในช่วงเที่ยงของวันนี้มีการประชุมในการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ยาชนิดนี้ที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมและจะมีการกระจายยาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมในส่วนของกรุงเทพมหานครโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและเขตสุขภาพต่างๆ