ข่าว

รัฐเพิ่มมาตรการเข้มสกัด"โควิด-19"ระบาดระยะ 3

รัฐเพิ่มมาตรการเข้มสกัด"โควิด-19"ระบาดระยะ 3

12 มี.ค. 2563

ยกเลิกฟรีวีซ่า "อิตาลี-เกาหลี-ฮ่องกง" พร้อมวีซ่าหน้าด่านอีก 18 ประเทศ รวมไต้หวัน หลังผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด 6 รายในวันเดียว "จุรินทร์"ถกอุปทูตจีนให้ความช่วยเหลือ"หน้ากาก-อุปกรณ์แพทย์-ยา"ในฐานะมิตรประเทศ

ความคืบหน้าการแก้ปัญหาการระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเด็ดขาดเพื่อสกัดกั้นการระบาดในประเทศนั้น

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เปิดเผยภายหลังเรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดว่า ที่ประชุมมีมติว่า ผู้ที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศเสี่ยง ได้แก่ จีน อิตาลี อิหร่าน เกาหลีใต้ ต้องขอวีซ่าที่สถานทูต เพื่อป้องกันไม่ให้คนจากประเทศเสี่ยงเข้ามา ซึ่งในประเทศที่มีฟรีวีซ่าทั้ง อิตาลี เกาหลี และฮ่องกง พร้อมยกเลิก Visa on Arrival (VOA) หรือการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง 18 ประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์ปกติ 

ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมอบหมายกระทรวงต่างประเทศติดต่อพูดคุยกับเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ส่งข้อมูลไปยังมิตรประเทศตามความจำเป็นว่าเรามีมาตรการอย่างไร เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ทุกสถานทูตและสถานกงสุล ต้องเตรียมรองรับมาตรการเหล่านี้ เพราะทุกคนที่จะเข้ามายังประเทศไทย ต้องไปขอวีซ่าตามระบบเดิมทั้งหมดที่สถานทูต หลังจากยกเลิกวีโอเอและฟรีวีซ่า

 

 

 

สำหรับการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยทั้งทางตรง ทางอ้อม จะต้องมีมาตรการควบคุมคัดกรอง ในส่วนพื้นที่ควบคุมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ คนต่างประเทศที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีมาตรการเตรียมการที่สนามบิน โดยจัดโรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ รองรับ เป็นการจัดไว้โดยเฉพาะ และขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารที่มาจากประเทศนั้นๆ จะอยู่กี่วัน แต่ต้องยอมรับว่าถ้าอยู่ต้องกักตัวไว้ 14 วัน 

“สำหรับคนที่จะเข้ามายังประเทศไทย ถ้าผ่านเข้ามาตามกติกา อาจจะมีความยุ่งยากมากขึ้น ในเรื่องของวีโอเอและฟรีวีซ่า หรือ ผ.30 โดยจะมีมาตรการจากกระทรวงมหาดไทยออกมาโดยใช้กฎหมายคนเข้าเมือง” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนการควบคุมตัวกลุ่มเสี่ยงตามความเข้มข้นในมาตรการรัฐบาลในพื้นที่ภูมิลำเนาจะต้องเชื่อมโยงต่อมาจากสนามบินและขนส่งไปถึงจังหวัดตามภูมิลำเนา โดยจัดยานพาหนะจะไม่มีการปล่อยคนลงกลางทางเด็ดขาด และแต่ละจังหวัดจะมีการแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงานลงไปถึงผู้ว่าฯ สาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบตามครัวเรือน ทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมาย 

สำหรับคนไทยที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศเสี่ยง ต้องผ่านมาตรการคัดกรองเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่ที่กำหนดตามภูมิลำเนา โดยมีเจ้าหน้าที่ติดตามดูแลถึงครัวเรือนและที่พัก ทุกคนต้องรับผิดชอบ และมีความผิดกรณีหลบหนีออกนอกบ้านและที่พัก มีการลงโทษทั้งปรับทั้งจำ ส่วนการติดตามตัวผีน้อยที่หลบหนีการคัดกรองนั้นติดตามได้หมดแล้วก็ขอให้มั่นใจ

“ยอมรับมาตรการที่ออกมาจะทำให้คนเข้าไทยลดลงจำนวนมาก เพราะการขอวีซ่าต่างๆ ต้องไปประเทศต้นทางที่มีสถานทูตของไทย ซึ่งคนเข้าน้อยลงอาจกระทบภาคธุรกิจด้วย ทางรัฐบาลจึงต้องคิดรอบคอบทุกด้าน แต่จะให้คิดว่าเศรษฐกิจแย่แล้วปิดประเทศไปเลยคิดอย่างนั้นไม่ได้ ขอร้องคนไทยทุกคนร่วมมือ ผมทราบปัญหาทั้งหมด รวมทั้งข้อบกพร่องต่างๆ ก็พร้อมแก้ไข” นายกฯกล่าว และว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้สถานการณ์จะควบคุมไม่ได้ เพื่อไม่ให้แพร่ระยะ 3 เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์รอบบ้านมีการแพร่ระบาด จึงต้องสกัดกั้นหามาตรการที่เหมาะสม พร้อมเตรียมเจ้าหน้าที่รองรับ ยืนยันทุกฝ่ายทำหน้าที่เต็มที่และเข้มแข็งมากที่สุด มีความพร้อมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และเตรียมการรองรับการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายต่อไป

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์โควิด-19 ยังไม่มีการหารือถึงขั้นการปิดประเทศเหมือนอิตาลี ในเบื้องต้นมีแค่มาตรการด้านวีซ่าก่อน

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า จะใช้อำนาจตามมาตรา 16 ตามกฎหมายคนเข้าเมืองดำเนินมาตรการ โดยเริ่มเลยตั้งแต่บัดนี้ ทั้งนี้จะปิดศูนย์ที่สัตหีบ จ.ชลบุรี และศูนย์ควบคุมในจังหวัดต่างๆ ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้อำนาจฝ่ายปกครองจัดส่งกลับภูมิลำเนา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะแต่งตั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงาน อาจเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง ในการดูแล

สำหรับรายชื่อ 18 ประเทศ และ 1 เขตเศรษฐกิจ (ไต้หวัน) ที่ยกเลิกวีโอเอได้แก่ 1.บัลแกเรีย 2.ภูฏาน 3.จีน 4.ไซปรัส 5.เอธิโอเปีย 6.หมู่เกาะฟิจิ 7.จอร์เจีย 8.อินเดีย 9.คาซัคสถาน 10.มอลตา 11.เม็กซิโก 12.นาอูรู 13.ปาปัวนิวกินี 14.โรมาเนีย 15.รัสเซีย 16.ซาอุดีอาระเบีย  17.อุซเบกิสถาน 18.วานูอาตู

“วิษณุ”ตั้งศูนย์ใหญ่บริหารรับมือ

วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า จะมีการออกคำสั่งตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น โดยจะครอบศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล และศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ยังไม่สามารถทำให้เป็นเอกภาพได้ และบางเรื่องจำเป็นต้องสั่งการโดยเร็ว ซึ่ง 2 ศูนย์เองทำไม่ได้ จึงต้องเอาศูนย์ใหญ่มาครอบ และมีเรื่องแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้เข้ามา ซึ่งอยู่นอกเหนือ 2 ศูนย์ที่จะรับมือได้ สำหรับศูนย์ใหญ่จะดูภาพรวมของนโยบาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้งศูนย์ใหญ่ขึ้นมาเพื่อเตรียมการรับมือกรณีการแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ใช่ เพราะเป็นการยกระดับ แรงงานไทยที่กลับจากเกาหลีใต้คือเหตุผลที่ทำให้ต้องยกระดับทุกอย่างขึ้นมาเพื่อไม่ให้คนตื่นตระหนก” เมื่อถามย้ำว่าเหตุผลเตรียมยกระดับระยะที่ 3 เป็นเพราะกรณีผีน้อยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีนี้และอย่างอื่นด้วย เราต้องเริ่มระมัดระวัง อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระยะที่ 3 เร็วๆ นี้หรือไม่ ไม่ทราบ แต่เห็น สธ.ทำท่าขยับเมื่อวันที่ 10 มีนาคม มิใช่หรือ แต่หากมีการประกาศเข้าสู่ระยะที่ 3 ก็มีความพร้อม

ต่อข้อถามสถานการณ์มีแนวโน้มว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดแบบต่างประเทศใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ เพราะคนเข้ามามาก แต่เรายังรักษามาตรฐานของเราได้ดี

พุ่งพรวดวันเดียวติดเพิ่ม6ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมคณะ แถลงข่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 6 ราย โดยทั้งหมดไม่มีความเกี่ยวข้องกัน รายที่ 1 เป็นผู้ชายไทย อายุ 21 ปี ทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มป่วยวันที่ 8 มีนาคม ด้วยอาการไข้ มีน้ำมูก ปวดหัว ตรวจจากห้องปฏิบัติการสองแห่งป่วยเป็นโควิด-19 รายที่ 2 เป็นผู้ชายไทย อายุ 40 ปี ทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับรายที่ 1 เริ่มป่วยวันที่ 7 มีนาคม เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน วันที่ 9 มีนาคม ด้วยอาการมีไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดศีรษะ รับการตรวจวินิจฉัยพบเชื้อไวรัส รายที่ 3 เป็นผู้ชายไทย อายุ 25 ปี อาชีพเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง มีอาการป่วย เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์ได้เอกซเรย์พบปอดอักเสบจึงส่งตรวจหาเชื้อยืนยันการป่วย ปัจจุบันรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร

รายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และมีการผลตรวจพบเชื้อในวันที่ 8 มีนาคม ส่งตัวมารักษาตัวที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี รายที่ 5 เป็นชายไทย 40 ปี เดินทางกลับจากญี่ปุ่น เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ ขณะอยู่ที่นั่นประสบอุบัติเหตุล้มกระดูกข้อมือแตก และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ผลตรวจพบเชื้อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรักษา ส่วนรายที่ 6 ชายสิงคโปร์ 36 ปี เจ้าของกิจการในกรุงเทพฯ เริ่มป่วยวันที่ 6 มีนาคม ไข้ ไอ ปวดตามตัว พบเชื้อไวรัส ปัจจุบันรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 59 ราย

แจงปมคนไทยเสี่ยงกว่าต่างชาติ

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ตอบข้อถามกรณีที่มาตรการของไทยเน้นการกักตัวคนไทยที่มาจากต่างประเทศ ขณะที่ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาว่า แบ่งเป็น 2 กรณี ถ้ามาจาก 4 ประเทศที่ประกาศเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย จะต้องทำตามกฎหมาย ด้วยการกักตัวหรือแยกตัวอยู่ในสถานที่ที่สามารถติดตามได้ทุกวันจนครบ 14 วัน สังเกตอาการตนเอง โดยไม่ไปยุ่งกับคนอื่น แต่หากเป็น 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสเปน ยังเป็นคำแนะนำให้สังเกตอาการตนเอง และไม่ไปยุ่งกับคนอื่นในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก

“ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาจะมาในระยะเวลาที่สั้นกว่าคนไทยเข้ามาโดยที่ยังไม่มีอาการป่วยก็เดินทางกลับแล้ว โอกาสแพร่เชื้อให้คนไทยจะน้อย ขณะที่คนไทยเมื่อกลับมาประเทศแล้วก็จะอยู่ยาว เมื่อเริ่มป่วยก็จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน จนหมดระยะแพร่เชื้อ 2-3 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นหากดูความเสี่ยง ต่างชาติที่มาอยู่สั้นก็จะเสี่ยงแพร่เชื้อน้อยกว่าคนไทยที่มาอยู่ยาว” นพ.โสภณกล่าว

ด้าน พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รอง ผบก.ตม.2 ในฐานะโฆษก สตม. เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่สุวรรณภูมิ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ฝ่าย ตม.ขาเข้า ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ โดยผลจากห้องปฎิบัติการพบว่าเป็นบวก ซึ่งอาการขณะนี้มีเพียงไข้แต่ไม่มีอาการติดเชื้อที่ปอดแต่อย่างใด เนื่องจากถึงมือแพทย์โดยเร็วทันทีที่พบอาการน่าสงสัย นอกจากนั้น ได้ติดตามตรวจสอบผู้ร่วมพักอาศัยตรวจแล้วไม่พบว่ามีอาการติดเชื้อ และในส่วนของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานในเคาน์เตอร์เดียวกันก็ได้เข้ารับการตรวจกับแพทย์ ซึ่งผลพบว่าไม่ติดเชื้อแต่ก็ให้เก็บตัวที่บ้าน 14 วัน

ปิดร้านดังทำความสะอาดตึก

ก่อนหน้านี้ เจ้าของร้านอาหาร ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 3 ซีอาร์ซี ทาวเวอร์ ออลซีซันส์ เพลส เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เข้ารับการตรวจเชื้อไวรัสที่โรงพยาบาลเอกชนผลตรวจเป็นบวกและรอผลตรวจยืนยันอีกรอบ จึงสั่งให้พนักงานปิดร้านอย่างเร่งด่วนและทำความสะอาด พร้อมทั้งโพสต์ภาพหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบินที่เดินทางจากสิงคโปร์มายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเกินจากระยะเวลากักตัว 14 วันแล้ว โดยคาดว่าอาจจะติดเชื้อจากในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ส่งพนักงานร้านทั้งหมดไปตรวจเชื้อและให้กักตัวดูอาการที่บ้าน 14 วัน พร้อมกันนี้ได้ขอโทษทุกคนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของอาคาร แจ้งว่า อาคารแห่งนี้ได้ทำความสะอาด และฉีดยาฆ่าเชื้อตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เพื่อความปลอดภัยของผู้คนในอาคาร

มีรายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เมื่อ 9 มีนาคม ได้รับแจ้งจากคู่ค้าของบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจตรวจวัดคุณภาพอากาศบนปล่องโรงไฟฟ้าของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ว่าเจ้าหน้าที่บริษัทคู่ค้าที่ได้เดินทางมาในพื้นที่โรงกลั่นเมื่อ 2 มีนาคม ติดเชื้อไวรัส ทางบริษัทได้ทำความสะอาดและปิดทำการห้องอาหารพนักงานในโรงกลั่นจนถึง 15 มีนาคม เป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้ส่งผู้ปฏิบัติงานที่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยไปตรวจหาเชื้อพบว่าไม่มีการติดเชื้อและให้กักตัวเอง 14 วัน

เช่นเดียวกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จากัด (มหาชน) หรือ SCG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทมาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด (MOC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่อยู่ในนิคมอาร์ ไอ แอล จ.ระยอง ได้รับแจ้งจากบริษัทคู่ธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่า มีพนักงานของคู่ธุรกิจจำนวน 1 คนติดเชื้อไวรัส พบว่าได้เข้ามาในห้องอบรมชั่วคราวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อและปิดพื้นที่ของ MOC ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมดังกล่าว รวมทั้งให้พนักงานและคู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหยุดพักเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน

รัฐเพิ่มมาตรการเข้มสกัด\"โควิด-19\"ระบาดระยะ 3

จีนช่วยไทยแก้หน้ากากขาด

วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้พบและหารือกับนายหยาง ซิน อุปทูตจีน ที่ทำเนียบรัฐบาล 

นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า เชิญท่านอุปทูตของจีนมาหารือเพื่อสอบถามเรื่องที่ได้รับทราบว่าทางจีนมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือกับมิตรประเทศและได้สอบถามว่าเราต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง ถ้าเป็นไปได้สิ่งที่เราอยากได้จากจีนไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือทั้งหมดหรือการที่จะซื้อจากจีน คือ 1.หน้ากากอนามัยการแพทย์ที่เรามีกำลังการผลิตเพียงวันละ 1.2 ล้านชิ้น 2.หน้ากากแบบ N95 3.ชุด PPE (Personal Protection Equipment) อุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล หรือชุดคลุมทั้งตัวที่ต้องใช้ในห้องติดเชื้อ 4.ชุดคัดกรองไวรัสที่ใช้ตรวจการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งทั้งประเทศไทยมี 8-9 แล็บที่ใช้ตรวจ แต่ชุดคัดกรองนี้เป็นชุดทดสอบอย่างง่าย(test kit) สามารถตรวจในสถานที่ต่างๆ ได้เลยไม่ต้องรอส่งไปห้องแล็บ และ 5.เรื่องวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามถือว่าในฐานะมิตรประเทศเราซาบซึ้งใจเมื่อได้รับแจ้งจากอุปทูตและจะรอคำตอบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ด้านนายหยาง ซิน กล่าวว่า หลังจากได้มีการระบาดในจีนและไทยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเบื้องต้นจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและพี่น้องคนไทยมากมายทั้งกำลังใจและวัตถุต่างๆ ที่ช่วยเหลือคนจีน จนปัจจุบันนี้ก็มีข่าวดีว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงมาก สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้มาเพื่อที่จะรับทราบสถานการณ์ของไทยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ความต้องการของรัฐบาลไทยมีอะไรบ้าง และสถานทูตเราจะพยายามทำเท่าที่ทำได้เราจะพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และก่อนหน้านี้จีนกับไทยแลกเปลี่ยนวิธีการรักษาระหว่างทีมแพทย์จีนกับไทยโดยตลอดได้มาพบและคุยเรื่องยา หลังจากนี้เรื่องวัตถุดิบประเทศจีนยินดีที่จะช่วยเหลือ