พุ่งพรวด พบผู้ป่วยโควิด 32 ราย สั่งทำแผนที่อัพเดทโซนติดเชื้อ
"ปลัด สธ." แถลงตัวเลขป่วยโควิดเพิ่ม 32 รายเกี่ยว 6 กลุ่มผับ-สนามมวย-ดูงาน ตปท. รักษาตัวกลับบ้าน 2 ราย ย้ำเลี่ยงกิจกรรมคนหมู่มาก พร้อมคุย รพ.เอกชน ช่วยรับรักษาคนติดเชื้อจนหายตามบัญชานายกฯ ไม่ต้องกังวล 72 ชม.ต้องย้าย รพ.
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2563 - ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข PHEOC ชั้น 7 อาคาร 5 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค , นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์การป้องกันและเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
สุวรรณภูมิ ประกาศปิดลานจอดรถโซน 6 ชั่วคราว
สว. เสนอ รบ. ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ ลดการแพร่เชื้อ
คนไทยต้องได้ตรวจโควิด-19 ฟรี
ผบ.ทสส. ห้ามกำลังพลเดินทาง ตปท.-งดสังสรรค์
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อว่า วันนี้มีผู้ป่วยที่เดินทางกลับบ้านได้ 35 ราย โดยในกลุ่มผู้ป่วยใหม่ขณะนี้ที่เมื่อวานบอกติดตามอยู่ 36 ราย ผลตรวจออกมาแล้วว่ามีผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด 32 ราย เกี่ยวข้อง 6 กลุ่ม
1.กลุ่มสถานบันเทิงในผับ มี 3 ราย ซึ่ง 1 รายสัมผัสกับชาวฮ่องกงและอีก 2 รายสัมผัสกับชาวเกาหลี และมีสถานบันเทิงกลุ่มใหม่ที่ติดอีก 5 ราย โดยกลุ่มสถานบันเทิงทั้งหมดกระทรวงก็ประสานงานติดตามอยู่ 2.กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยลุมพินี มีทั้งหมด 9 รายที่ยืนยันแล้ว 3.กลุ่มที่สัมผัสกับนักท่องเที่ยว คือ ตำรวจ ตม. และพนักงานบริษัทในร้านอาหารสนามบินสุวรรณภูมิ รวม 3 ราย 4.กลุ่มเที่ยวต่างประเทศกลับมา 7 ราย (เป็นคนไทย 5 ราย ต่างชาติที่ไม่สบายแล้วเข้ามาในไทย 2 ราย) 5.กลุ่มข้าราชการเดินทางไปดูงานในประเทศสเปน 1 ราย และ 6.กลุ่มผู้สัมผัสเจ้าของร้านอาหาร ที่ติดเชื้อ 2 ราย โดยอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 3 ราย และมีผู้ป่วยที่รอตรวจเพื่อยืนยันอีก 51 รายซึ่งเป็นผู้สัมพันธ์กับ 6 กลุ่มดังกล่าว
นพ.สุขุม กล่าวถึงเหตุที่ยังคงมีการแพร่ระบาดว่า ที่ผ่านมา สธ.ให้คำแนะนำมาตลอดว่าให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศช่วงนี้ ซึ่งยังมีเดินทางไป และเมื่อกลับมาแล้วยังไปสุงสิงกับสังคมจึงเกิดการติดเชื้อและติดกันหลายกลุ่ม แสดงว่าอาจมีปัญหาเรื่องสถานที่ซึ่งเราก็ได้ติดตาม โดยขอให้หลีกเลี่ยงไปในสถานที่คนหนาแน่น และสถานที่มีต่างชาติอยู่ เช่น ผับ สนามมวย หรือร้านอาหารไฟสลัวๆ ส่วนหน่วยงานราชการเองก็ขอร้องให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งส่วนของ สธ. ได้งดการดูงานในต่างประเทศแล้ว 100% ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการแจ้งเป็นมาตรการ และขอให้เน้นความสะอาดในสถานที่ต่างๆ
ขณะที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีกลุ่มเดินทางกลับจากประเทศอิตาลีอีก 83 ราย มาลงที่สัตหีบ ก็เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน 78 ราย , นักท่องเที่ยวคนไทยที่ติดค้างอยู่ 3 ราย และพนักงานสายการบิน 2 ราย โดยพบว่าในจำนวนนี้ มี 6 ราย มีไอ มีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ ซึ่งส่งตัวไปตรวจยังโรงพยาบาล สัตหีบ กม.10 จำนวน 3 ราย , รพ.บ้านฉาง 1 ราย , รพ.มาบตาพุด 1 ราย และรพ.ระยอง 1 ราย ส่วนผู้เดินทางอีก 77 คน ส่งไปพักสังเกตอาการที่อาคารรับรองฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี จนครบ 14 วัน
ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (16 มี.ค.) ให้กรมควบคุมโรค ทำแผนที่เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่พบผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ กทม. และส่วนต่างจังหวัด เพื่อจะให้อัพเดทติดตามสถานการณ์และดูกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนายกฯ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้มอบหมายให้ยกระดับการใช้มาตรการตามกฎหมายในรูปแบบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดผับ หรือสนามมวยที่เป็นแหล่งการแพร่เชื้อในเวลาที่กำหนดไว้ โดยขณะนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากสนามม้าทุกแห่งทั้งที่โคราช - กทม.ปิดเรียบร้อยแล้วซึ่งให้ความมั่นใจในเรื่องการดูแลประชาชน อย่างไรก็ดีขอให้ทุกคนเลี่ยงกิจกรรมคนหมู่มาก เช่น กิจกรรมที่เกิน 100 คน ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ก็มีประเด็นว่ากลุ่มที่ร่วมงานต้องดูแลการเข้าร่วมกัน จะต้องติดตามกลุ่มอาจต้องกักกัน 14 วันเรากำลังติดตามสถานการณ์
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า ตอนนี้การดูแลผู้ป่วยเรามีการติดตามครอบคลุมมากขึ้น โดยเราเพิ่มจำนวนแลปขึ้นอีกในการตรวจเพื่อหาผู้ป่วยก็ขอให้มีความมั่นใจการตรวจของเรา 100% โดยท่านไม่ต้องปกปิดความจริง หากมีประวัติเดินทางมาจากต่างประเทศแล้วมีอาการแม้เล็กน้อยให้ตรวจดูเพื่อรับผิดชอบต่อสังคม
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมเรายังพบผู้ป่วย 2 กลุ่มใหญ่ 1.กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วมีอาการเจ็บป่วย และ 2.กลุ่มคนที่อาจไปสัมผัสกับชาวต่างชาติ หรือคนป่วยแล้วแพร่ตัวโรคผ่านกิจกรรมที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยสิ่งที่ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วคือ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร รายงานว่าพื้นที่ที่มีสถานบันเทิง เช่น ผับ ก็ได้หยุดดำเนินการและทำความสะอาดไม่น้อยกว่า 3 วันนั้น ดำเนินการไปกว่า 10 แห่งขึ้นไป ทั้งนี้ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ประเด็นมาตรา 34(4) พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้เจ้าพนักงานออกคำสั่งให้มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และมาตรา 35 ที่รองนายกฯ ระบุว่าจะเสนอมาตรการให้ปิดพื้นที่ที่มีกิจกรรมรวมกลุ่มจำนวนมากที่อาจจะแพร่โรคได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเสริมว่า ช่วงนี้เรายังต้องดำเนินการบิ๊กคลีนนิ่ง ใน 3 ส่วน 1.ส่วนที่ให้ไปควบคุมตัวเองที่บ้าน ก็มีแนวปฏิบัติเรื่องการดูแลในส่วนของอนามัยสิ่งแวดล้อมในบ้าน โดยการให้ควบคุมตัวเองในบ้านนั้นจะเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะยังไม่ใช่คนป่วยแต่เป็นการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีการปนเปื้อนออกมาสู่ชุมชน 2.กลุ่มที่มีการรวมตัวกันในพื้นที่ ที่เราพุ่งเป้า 3 กลุ่มหลัก คือขนส่งสาธารณะทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง เช่น หัวลำโพงและสถานีขนส่งต่างๆ ที่จะมีพื้นที่ส่วนรวมที่คนไปใช้ร่วมกันในสถานี กับตัวรถหรือโบกี้รถไฟ ต้องมีมาตรฐานทำความสะอาดอย่างเข้มข้น และให้มีความถี่การทำความสะอาดเพิ่มขึ้น , กลุ่มพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า/ซูเปอร์มาร์เก็ต /ร้านอาหาร ก็จะไปติดตามดูแลว่าจัดมาตรฐานตามสุขาภิบาลอาหาร-น้ำตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะลงสุ่มตรวจเป็นระยะๆ ให้เกิดความมั่นใจว่ามาตรการที่ดำเนินการนั้นมีความปลอดภัย ไม่มีการกระจายของตัวเชื้อ , กลุ่มศาสนาสถาน ที่ยังมีการปฏิบัติกิจด้านศาสนาต่างๆ และ 3.กลุ่มจัดงานพื้นที่สาธารณะ เช่น คอนเสิร์ต ก็ได้ประกาศล่วงหน้าแล้วว่าไม่สนับสนุนให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มกันในพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ อย่างไรก็ดีหากพื้นที่ไหนมีเคสการเข้าไปสัมผัสก็จะมีมาตรการเรื่องทำความสะอาดแบบทั่วถึงและปิด จนเรามั่นใจว่าไม่มีการสัมผัสอยู่ในพื้นที่นั้นอีกจึงจะได้รับอนุญาตให้จะกลับมาดำเนินการเปิดใหม่
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวย้ำถึงแลปตรวจเชื้อไวรัสว่า กระบวนการตรวจแลปในประเทศไทยที่กรมวิทยาศาสตร์คัดกรองเป็นเครือข่ายมาตรฐานที่จะให้บริการมีทั้งหมด 35 แห่ง และกำลังจะเพิ่มจำนวนแลป ตามนโยบายของปลัดสธ. โดยขณะนี้แลปที่มีการตรวจมากที่สุดในพื้นที่ กทม.คือ รพ.รามาธิบดี ซึ่งบางวันมีตรวจมากกว่า 1,000 ราย
ส่วนที่มีข่าวในโซเชียลว่าตรวจฟรี 18 แห่งนั้น ไม่ใช่ข่าวที่ออกมาจาก สธ. หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยการตรวจทุกรายนั้น หากมีอาการเข้าการสอบสวนตามกรมควบคุมโรคกำหนดก็ตรวจฟรี ซึ่งไม่ใช่แค่เครือข่าย 18 แห่งของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่เครือข่ายทุกแห่งที่เรารับรองมาตรฐาน
นพ.สุขุม กล่าวว่า ผู้ป่วยคนไทยที่มีอาการป่วยและเหตุสงสัย หรือปัจจัยตรงกับที่กรมควบคุมโรคกำหนด เช่น ไปต่างประเทศมาแล้วสัมผัสกับต่างชาติ ผู้เกี่ยวข้อง คนที่เป็นโรค บุคลากรทางแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้อง หรือเป็นปอดบวมไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ ยืนยันว่าตรวจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนตอนนี้ที่ เรายกระดับโลกโควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน ก็จะมีปัญหาว่าเมื่ออยู่ครบ 72 ชั่วโมงแล้วจะย้ายไปไหนนั้น นายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ มีหลักการให้พิจารณากันว่า หากป่วยแล้วเข้าโรงพยาบาลเอกชน ก็ให้อยู่ที่โรงพยาบาล จนหาย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ขอให้ประชาชนสบายใจ เรื่องสุขภาพไม่ต้องกังวลว่า สธ. โรงพยาบาลภาครัฐ จะรับคนไข้ไม่ไหว โดยขณะนี้เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงพยาบาลในสังกัดของสำนักงานปลัด สธ. และโรงพยาบาลในสังกัดของกรมต่างๆ เช่น กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค แม้กระทั่งกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ก็พร้อมถ้ามีความจำเป็นก็สามารถปรับรับคนไข้ได้ หรือโรงพยาบาลในอำเภอต่างๆ ก็พร้อมจะปรับสภาพรองรับ นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ใน รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช ก็รับได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ในต่างจังหวัดด้วย ส่วน รพ.เอกชน ก็จะไปขอความร่วมมือปรับปรุงตามบัญชาของนายกรัฐมนตรีเพื่อที่ในอนาคตประชาชน สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากป่วยเป็นโรคนี้
ขณะที่พรุ่งนี้ (16 มี.ค.) จะมีมาตรการเสนอ ศูนย์บริหารจัดการของรัฐบาล ที่มี 3 แนวทางคือ 1.ลดคนเดินทางเข้าประเทศ 2.ปิดสถานบริการที่มีความแออัด มีความเสี่ยง 3.งดกิจกรรมรวมคนหมู่มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 จนถึงวันที่ 15 มี.ค.นี้ เวลา 08.00 น. ตามเอกสารรายงานสรุปของกระทรวงสาธารณสุข ปรากฎดังนี้ 1.พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่ม 32 ราย โดยรักษาหายกลับบ้าน 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 29 ปี และหญิงไทย อายุ 22 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร
โดยขณะนี้สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 37 ราย ส่วนที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 76 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้รวมทั้งสิ้น 114 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุข แนะหลีกเลี่ยง/งดเข้าไปในสถานบริการที่มีความแออัดและเสี่ยงสูง งดการเดินทางไปต่างประเทศ
2.ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.– 14 มี.ค.63 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 6,176 ราย คัดกรองจากทุกด่าน 258 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 5,918 ราย โดยอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วและอยู่ระหว่างติดตามอาการ 4,223 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 1,953 ราย
3.สถานการณ์ทั่วโลกใน 147 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 1 เรือสำราญ ข้อมูลตั้งแต่ 5 ม.ค. – 15 มี.ค.63 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 155,817 ราย เสียชีวิต 5,814 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 80,824 ราย เสียชีวิต 3,189 ราย