กทม.ไม่นิ่งนอนใจเตรียมเปิดแอพติดตามกลุ่มเสี่ยงโควิด-19
กทม.ระดมบิ๊กคลีนนิ่ง 50 เขต สกัด "โควิด-19" เตรียมเปิดแอพ SydeKick for ThaiFightCOVID ติดตามกลุ่มเสี่ยง
16 มีนาคม 2563 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
อ่านข่าว "รองผบ.ตร."รายงาน"บิ๊กตู่"สอบกักตุนหน้ากากอนามัย
เตรียม"รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน"รองรับผู้ติดเชื้อ"โควิด-19
อย่าแตกตื่น"ห้างยักษ์"ย้ำสินค้ามีเพียงพอไม่ต้องกักตุน
ยืนยัน"พล.ต.ราชิต"เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกติดโควิด-19
โดยกล่าวว่า ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดดำเนินกิจกรรมป้องกันโดยเฉพาะในสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมชนหรือมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาทิ ศูนย์กีฬา ศูนย์เยาวชน ศูนย์สร้างสุขทุกวัย หอสมุดเมืองฯ พิพิธภัณฑ์เด็กปิดบริการห้องกิจกรรมที่เป็นพื้นที่ปิดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก อาทิ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) ภายในอาคารกีฬาเวสน์ 1 – 2 ซึ่งปัจจุบันปิดการให้บริการแล้ว
นอกจากนี้ยังจัดตั้งจุดตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิเจ้าหน้าที่และผู้ใช้บริการ และฝึกสอนการทำหน้ากากอนามัยผ้าให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกันได้กำชับสำนักงานเขต 50 แห่งจัดบิ๊กคลีนนิ่งในสถานประกอบการที่มีประชาชนไปใช้บริการจำนวนมาก
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หลายสำนักงานเขตได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ สำนักงานเขตบางกอกน้อย จัดเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองนักเรียนที่เข้าร่วมการสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 14
โดยทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและให้บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่โรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณชั้น 1 หน้าศูนย์ราชการสะดวก หากตรวจวัดอุณหภูมิผลเป็นปกติ จะต้องติดสติกเกอร์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีการผ่านจุดคัดกรองแล้ว ขณะที่ผู้ที่มีอุณหภูมิใกล้เคียง 37.5 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่จะให้นั่งพักก่อนที่จะทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับสำนักอนามัย กทม.ได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับขั้นตอนการส่งต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องติดตามอาการทุกราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 68 แห่ง ได้เยี่ยมดูแลเฝ้าระวังอาการผู้ที่เข้าข่ายกักกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน ให้เป็นไปตามมาตรฐาน
รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการควบคุมและติดตามผู้ที่ต้องเฝ้าสังเกตอาการของโรคโควิด-19 ซึ่งกักตัวอยู่ที่บ้านในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดยแจกเอกสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้ผู้เกี่ยวข้องได้ศึกษาข้อมูลและข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชน
พล.ต.ท.โสภณ กล่าวด้วยว่า ส่วนสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.ได้ประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จัดทำแอพพลิเคชั่น AOT Airports สำหรับให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทุกคนดาวน์โหลดและกรอกเบอร์โทรศัพท์เพื่อใช้ในการติดตามตัวผู้มีความเสี่ยงกลับมาตรวจและเฝ้าระวังได้ทันที
รวมถึงแอพพลิเคชั่น SydeKick for ThaiFightCOVID สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องกักตัวที่บ้านและแรงงานไทยที่กลับจากประเทศเสี่ยง เพื่อใช้ในการติดตามเฝ้าระวังผ่านระบบ Location Tracking รู้พิกัดกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ให้สำนักพัฒนาสังคมจัดทำหน้ากากอนามัยแบบผ้าแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกทม.ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค โดยปัจจุบันได้ผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าแล้ว กว่า 10,000 ชิ้น และได้แจกจ่ายไปแล้วกว่า 9,700 ชิ้น