ข่าว

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด-19

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด-19

24 มี.ค. 2563

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการขั้นสุดสู้โควิด-19

ท่ามกลางการทยอยใช้มาตรการ "ชัตดาวน์" ทีละขั้น ทีละกิจการ ทีละสถานที่ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  มีอยู่เครื่องมือหนึ่งที่ถูกพูดถึงมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็คือการ "ประกาศภาวะฉุกเฉิน" โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"

 

 

แม้การใช้ "ยาแรง" ที่ชื่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" ไม่ใช่เรื่องง่าย และหลายฝายไม่เชื่อว่าจะมีการประกาศจริงๆ ก็ตาม / แต่หากพิจารณาจากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นใกล้เป็นเลข 3 หลัก และการติดตามกลุ่มเสี่ยงยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนอาจเกิดการระบาดใหญ่ "ระยะ 3" โอกาสที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้ "เครื่องมือพิเศษ" ชนิดนี้ก็มีอยู่เหมือนกัน

อ่านข่าว-ด่วนดีเดย์ 26 มี.ค.ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้โควิด

 

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้เมื่อปี 2548 ในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร โดยประกาศเป็น "พระราชกำหนด" ไม่ใช่ "พระราชบัญญัติ" เพราะไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องเร่งประกาศเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงอย่างนัก โดยเฉพาะเหตุการณ์ "ดับเมืองยะลา" เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ปี 48 / เมื่อประกาศใช้แล้วจึงนำเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาตามเงื่อนไข กระทั่งกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ต่อมาเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ

 

 

 

สาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีไว้แค่ "ดับไฟใต้" หรือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถานการณ์ภัยคุกคามด้านอื่นๆ ที่กระทบของสาธารณะ หรือที่เข้าข่ายเป็นภัยพิบัติสาธารณะด้วย ตามนิยามที่กฎหมายเขียนไว้ในมาตรา 4 ที่ว่า "สถานการณ์ฉุกเฉินให้หมายรวมถึงสถานการณ์ที่กระทบกับความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง" ด้วย

 

 

 

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกฯสามารถประกาศไปก่อนได้ทันที เพื่อให้ทันสถานการณ์ แล้วค่อยนำเข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีก่อนเพื่อประกาศออกมาเป็นมติ ครม.ก็ได้

 

เมื่อประกาศใช้แล้ว อำนาจของทุกส่วนราชการ จะไปรวมศูนย์อยู่ที่นายกฯ ตามมาตรา 7 / ซึ่งจะทำให้การสั่งการของนายกฯเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ข้ามขั้นตอนหรือสายการบังคับบัญชาตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

 

 

 

โดยการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถประกาศได้เฉพาะพื้นที่ (เหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือครอบคลุมทั่วประเทศก็ได้ / และการประกาศแต่ละครั้ง จะมีระยะเวลานานที่สุด 3 เดือน หากสถานการณ์ฉุกเฉินจบลง ก็ให้นายกฯยกเลิกการประกาศได้ทันที / แต่หากสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงอยู่ ก็ให้ขยายเวลาได้คราวละ 3 เดือน / ทำให้สามารถรีวิวสถานการณ์ได้ทุกๆ 3 เดือน

 

 

 

สำหรับอำนาจพิเศษที่สามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีบัญญัติในมาตรา 9 และ 11 รวมๆ ประมาณ 16 มาตรการ เช่น ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือ "เคอร์ฟิว" / สั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ / สั่งปิดเส้นทางคมนาคม / ห้ามชุมนุมมั่วสุม หรือไปรวมตัวกันจำนวนมากๆ / ห้ามนำเสนอข่าวสารที่กระทบกับสถานการณ์ / ห้ามใช้อาคารสถานที่ตามที่กำหนด / รวมถึงประกาศให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็น "เจ้าพนักงาน" ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะทำให้มีเอกภาพในการปฏิบัติและการสั่งการมากขึ้นด้วย

 

 

 

แต่มาตรการพิเศษเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันทีหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ / แต่ต้องให้นายกฯประกาศ "ข้อกำหนด" เป็นเรื่องๆ เป็นมาตรการๆ ไป / เหมือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ / แต่ไม่เคยประกาศ "เคอร์ฟิว" มีแค่ขอความร่วมมือห้ามออกจากบ้านบางช่วงเวลาเท่านั้น

 

 

 

สาเหตุที่เรานำเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเล่าให้ฟัง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจกับกฎหมายพิเศษฉบับนี้ล่วงหน้า ไม่ได้ชี้นำว่าควรประกาศหรือไม่ควรประกาศ และไม่ได้สร้างกระแสให้ตื่นกลัว เพราะถ้าสุดท้ายมาตรการ "ปิดบางส่วน" และ "ขอความร่วมมือ" ไม่สามารถ "เอาอยู่" หรือคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ดีกว่านี้ได้ ก็มีโอกาสสูงที่จะต้องใช้มาตรการขั้นสุดอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นลำดับสุดท้าย