ไขคำตอบ ทำไมโควิด-19 คร่าชีวิต "ผู้ชาย" มากกว่า "ผู้หญิง"
ผู้เชี่ยวชาญไขคำตอบ ทำไมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก มีแนวโน้มคร่าชีวิตผู้ป่วย "เพศชาย" สูงกว่า "เพศหญิง"
"ซินหัว" รายงานว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มคร่าชีวิตผู้ป่วย ‘เพศชาย’ สูงกว่า ‘เพศหญิง’
อ่านข่าว ไวรัสลาม"ผู้นำอังกฤษ"
คณะผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า นอกจากภาวะร่างกายไม่แข็งแรง นิสัยบั่นทอนสุขภาพอย่างการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำลายปอดแล้ว อิทธิพลจากฮอร์โมนต่อการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอาจมีบทบาทสำคัญในปรากฏการณ์นี้ด้วย
ดร.เดบราห์ เบิร์ซ หัวหน้ากองปฏิบัติการโควิด-19 ประจำทำเนียบขาวของสหรัฐฯ กล่าวระหว่างแถลงข่าวรายวันว่า มีรายงานจากอิตาลีที่เผยให้เห็นการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ของผู้ชายเกือบทุกช่วงอายุนั้นมีอัตราสูงกว่าผู้หญิง ซึ่งเป็น “แนวโน้มอันน่าวิตกกังวล”
สถิติจากหน่วยงานสาธารณสุขอิตาลี ระบุว่า ผู้ชายครองสัดส่วนร้อยละ 58 ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งหมด 13,882 ราย และร้อยละ 72 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตระหว่างวันที่ 21 ก.พ.-12 มี.ค. โดยผู้ชายที่เข้าโรงพยาบาลมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 75
ขณะสถิติจากประเทศอื่นๆ พบว่าผู้ชายเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่าผู้หญิงเช่นกัน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติจีน (CCDC) ชี้ว่า การเสียชีวิตของผู้ชายที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สูงกว่าผู้หญิงราวร้อยละ 65
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ มองว่า นิสัยบั่นทอนสุขภาพอย่างการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักพบเจอในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจทำลายปอดและเป็นปัจจัยพื้นฐานของอาการอักเสบขณะรักษาภาวะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยที่ตรวจสอบความไม่เท่าเทียมทางเพศในระบบสุขภาพทั่วโลกอย่างโกลบอล เฮทธ์ 50/50 (Global Health 50/50) ระบุว่า ผู้ชายมีแนวโน้มมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอดเรื้อรังมากกว่า
“ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งเสริมการติดเชื้อขั้นรุนแรงอย่างมีประวัติสูบบุหรี่และโรคหัวใจระหว่างชายและหญิงก็แตกต่างกัน ส่วนระบบภูมิคุ้มกันของเพศทำงานไม่เหมือนกันด้วย” ซูซาน โควัทส์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาและนักจุลชีววิทยา มูลนิธิวิจัยการแพทย์โอคลาโฮมา (OMRF) กล่าว
โควัทส์ เผยว่า มีการตรวจพบในมนุษย์และหนูทดลองว่าความแตกต่างทางเพศมีอิทธิพลต่อการอุบัติและความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยมีความสัมพันธ์กับความแตกต่างของกิจกรรมเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกาย
เซลล์ภูมิคุ้มกันสามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนทสโทสเตอร์โรน (testosterone) แต่ระดับที่แตกต่างกันของฮอร์โมนเหล่านี้ในชายและหญิงอาจมีบทบาททำให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันแตกต่างกัน
โควัทส์ ชี้ว่า การตอบสนองต่อไวรัสบางสายพันธุ์ เซลล์ของผู้หญิงจะผลิตโปรตีนชนิดอินเตอร์ฟีรอน (interferon) สูงกว่าเซลล์ของผู้ชาย โดยอินเตอร์ฟีรอนเป็นส่วนสำคัญในการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด ทำหน้าที่ต้านและชะลอการกระจายตัวของไวรัส
“มีหลักฐานบ่งชี้ว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งเสริมการผลิตโปรตีนชนิดอินเตอร์ฟีรอน ดังนั้นกำลังการผลิตโปรตีนชนิดนี้ในปริมาณมากกว่าของผู้หญิงอาจช่วยลดการกระจายตัวของไวรัสและความเสียหายในปอดขณะติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ” โควัทส์ อธิบาย
ด้าน ดร.สแตนลีย์ เพิร์ลแมน ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยไอโอวา ได้ศึกษาหนูทดลองเพศผู้และเพศเมียที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) พบว่าหนูเพศผู้ติดเชื้อง่ายกว่าหนูเพศเมียทุกช่วงอายุ
“หากถอดฮอร์โมนเอสโตรเจนออกจากหนูเพศเมีย พวกมันก็มีความไวในการติดเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคซาร์สเหมือนหนูเพศผู้” เพิร์ลแมน กล่าว
เคนต์ พินเคอร์ตัน ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์เดวิส มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าการตอบสนองของภูมิคุ้มกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงอาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน แต่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องศึกษาต่อไป เพื่อค้นหาวิธีรับมือการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ดียิ่งขึ้น
--------------------------
ที่มา xinhuathai.com