ข่าว

เศร้า แท็กซี่ติดโควิดและครอบครัวถูกไล่ออกจากห้องเช่า เพราะคนผวากลัวติดเชื้อ

เศร้า แท็กซี่ติดโควิดและครอบครัวถูกไล่ออกจากห้องเช่า เพราะคนผวากลัวติดเชื้อ

31 มี.ค. 2563

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ เล่าเรื่องจากวอร์ดโควิด เคสคนไข้เป็นคนขับแท็กซี่ผู้หญิงอายุ 40 ปี หลังครอบครัวถูกไล่ออกจากห้องเช่า เพราะผู้คนนั้นกลัวติดเชื้อไปด้วย ซึ่งฟังแล้วมันสะท้อนให้เห็นในหลายๆ มุม

เฟซบุ๊กส่วนตัวของ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เล่าเรื่องจากวอร์ดโควิด เคสคนไข้เป็นคนขับแท็กซี่ผู้หญิงอายุ 40 ปี ที่ได้ยินแล้วมันสะท้อนให้เห็นในหลายๆ มุม โดยเฉพาะ "ความเข้าใจเรื่องการติดต่อโรค"

เรื่องเล่าจากวอร์ดโควิด

 

 

เคสหนักที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ห้องไอซียูก็ต้องขยายจากที่เตรียมไว้ 4 เตียง ตอนนี้ต้องเตรียมเพิ่มขึ้นเพื่อรับผู้ป่วยได้ถึงเกือบ 20 คน เรากำลังเปลี่ยนตึกทั้งตึกเป็นไอซียูสำหรับเคส COVID ที่อาการหนัก นอกเหนือไปจากจากวอร์ดปกติ 4 วาร์ดที่มีคนไข้โควิดแน่นอยู่แล้ว

 

 

 

เมื่อวันก่อนมีเคสนึงใส่ท่อช่วยหายใจเพราะปอดอักเสบรุนแรง ตอนเช้าไปราวน์กับเรสสิเดนท์ รู้ว่าคนไข้เป็นคนขับแท็กซี่ผู้หญิงอายุ 40 ปี น่าจะติดจากการสัมผัสนักท่องเที่ยว ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงมาขับรถรับจ้าง เลยให้เรสสิเดนท์รีบโทรไปถามครอบครัวว่ามีปัญหาอะไรบ้างมั้ย ได้ความว่าตั้งแต่คนไข้มาอยู่โรงพยาบาลก็หยุดงาน รายได้ทั้งหมดหายไป สามีขับรถรับจ้างได้เงินรายวัน ตอนนี้ต้องหยุดงานตั้งแต่มีการระบาด มีลูกเล็กๆ 2 คน 5 ขวบกับ 2 ขวบ พอภรรยาติดโควิดก็ถูกไม่ให้อยู่ที่ห้องเช่าเพราะคนกลัวว่าติดโควิดมาจากภรรยา ต้องระเห็ดออกมาอยู่บ้านที่เถ้าแก่ที่กำลังสร้างไม่เสร็จ ใช้เงินเก็บที่มีอยู่ 3,000 บาท ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ

 

 

 

พอรู้เรื่องเสร็จทุกคนช่วยกันทันที ตามแก๊งพ่อลูกมา swab และให้นอนที่โรงพยาบาลรวมกันไปก่อน โชคดีที่ผลตรวจไม่เจอเชื้อโรคโควิดทั้ง 3 คน สิ่งที่ต้องรีบทำก็เพื่อออกใบยืนยันแล้วทางครอบครัวจะได้ไม่ถูกตีตราจากคนอื่น (จริงๆถ้าสังคมเข้าใจเราไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดตามครอบครัวของคนไข้มา swab เพราะถ้าเขากักตัว 14 วันไม่ออกไปไหนก็จะไม่ไปแพร่กระจายเชื้อให้ใคร) ช่วยลงทะเบียนช่วยเหลือ ระดมทุนมาช่วยในช่วง 3 เดือนถัดจากนี้ ส่วนภรรยาตอนนี้นอนอยู่ไอซียูทางทีมช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่
 

 

เคสนี้ เคสเดียวสะท้อนหลายๆ มุมที่เราก็ยังต้องแก้ไขหรือมองข้าม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ความเข้าใจเรื่องการติดต่อโรค การตีตราคนไข้และญาติของคนไข้ ยังมีเรื่องปัญหาสุขภาพที่มันผูกติดกับเศรษฐกิจและสังคม สิ่งที่ต้องการในตอนนี้คือทำให้การระบาดอยู่สั้นที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเนื่องและวงกว้าง ช่วยกันทำ social distancing ให้มากที่สุด เมื่อโรคหยุดระบาดทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยๆฟื้นกลับมาใหม่ สร้างความเห็นอกเห็นใจกันในสังคมทั้งให้กับคนไข้และบุคคลากรที่กำลังช่วยดูแลคนไข้

 

 

ผมว่ากำลังใจมาที่บุคคลากรทางการแพทย์มีมากมายพอแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือช่วยกันเข้าใจโรคและเห็นใจคนไข้ด้วยครับ

 

 

 

 

 

 

CR เฟซบุ๊ก : Opass Putcharoen