ข่าว

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ "เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา"

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ "เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา"

05 เม.ย. 2563

วธ.ออกประกาศแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับ "เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา" งานบุญ-งานแต่ง-งานศพ ป้องกันโควิด-19 ย้ำงดหรือเลื่อนการจัดงาน-รักษาระยะห่างทางสังคม-เน้นทำกิจกรรมออนไลน์

 

                วันที่ 5 เม.ย. 2563 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ออกข้อควรปฏิบัติในการจัดงานบรรพชาอุปสมบท งานมงคลสมรส และงานฌาปนกิจศพ ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น

                อ่านข่าว ตำรวจเชียงใหม่ จับคนแหกเคอร์ฟิว 49 ราย

 

 

 

                ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรมจึงออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนหมู่มาก โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย

 

 

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ \"เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา\"

 

 

                1. งดหรือเลื่อนการจัดงานเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ ที่เป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก 

                2. กรณีที่มีความจำเป็นไม่สามารถงดหรือเลื่อนการจัดงานนั้นๆได้ ให้ปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

                2.1 ให้ปฏิบัติโดยไม่ขัดต่อประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนด ได้แก่ ประกาศ คำสั่ง และข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พร้อมทั้งมาตรการที่รัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนด รวมทั้งประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และประกาศ หรือคำสั่งที่ออกโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด อีกทั้งประกาศขององค์การทางศาสนาที่ทางราชการให้การรับรอง หรือหน่วยงานของรัฐที่กำกับ

 

 

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ \"เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา\"

 

 

                2.2 แนวทางการปฏิบัติทั่วไป สำหรับผู้จัดงาน

                1) ต้องแจ้งเจ้าพนักงานหรือหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคระดับหมู่บ้านหรือชุมชนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้กำกับดูแลในพื้นที่ 
                2) ต้องระบุข้อความบัตรเชิญร่วมงานว่า “ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งให้นำบัตรประชาชนหรือบัตรที่ทางราชการออกให้มาด้วย และหากมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ ให้งดการมาร่วมงานโดยเด็ดขาด” 
                3) ต้องจัดให้มีจุดคัดกรองและตรวจวัดไข้ผู้เข้าร่วมงาน หากตรวจพบผู้มีอุณหภูมิเกิน  ๓๗.๕ องศา แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยทันที

 

 

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ \"เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา\"

 

 

                4) ต้องจัดให้มีการลงทะเบียน หรือบันทึกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ พร้อมทั้งบันทึกภาพผู้เข้าร่วมงาน
                5) ต้องจัดให้มีแอลกอฮอล์เจลบริเวณจุดทางเข้างาน ตลอดจนตามจุดต่างๆ รอบบริเวณงาน และสำรองหน้ากากอนามัยไว้ให้บริการ
                6) ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ และพื้นที่ในบริเวณการจัดงาน ที่ผู้เข้าร่วมงานต้องสัมผัสบ่อยๆ หรือใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งพื้นที่โดยรอบการจัดงาน
                7) ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดงานให้สั้นที่สุด

                8) ต้องรีบแจ้งและจัดส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดต่อกระทรวงสาธารณสุขในทันที หากทราบภายหลังว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าร่วมงาน
                9) งดจัดงานเลี้ยงทุกประเภท

                10) งดจัดให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
                และ 11) งดการแสดง ดนตรี มหรสพ หรือเต้นรำทุกชนิด 

 

 

 

 

                นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติผู้ร่วมงาน

                1) ต้องแต่งกายให้มิดชิดเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล โดยต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในงาน
                2) ต้องเว้นระยะห่างการนั่งหรือยืนระหว่างบุคคล ไม่น้อยกว่า 2 เมตร 
                3) ต้องปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือด้วยน้ำสะอาดและสบู่เหลว
                4) ต้องทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือล้างน้ำและสบู่ทันทีหลังออกจากงาน รวมทั้งทำความสะอาดอุปกรณ์สื่อสารและของใช้ส่วนตัวที่พกติดตัวมาในงาน เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต

 

 

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ \"เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา\"

 

 

                5) ต้องอาบน้ำชำระล้างร่างกายและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย โดยทันที เมื่อกลับถึงที่พัก
                6) งดเข้าร่วมงานหากมีอาการป่วย และให้รีบไปพบแพทย์ 
                7) งดเข้าร่วมงาน หากตนเองเดินทางกลับจากต่างประเทศยังไม่ครบ 14 วัน และ/หรือ สัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                และ 8) งดคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ร่วมงานอื่นๆ ที่ไม่มีการป้องกันตนเอง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในขณะร่วมงาน

 

 

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ \"เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา\"

 

 

                2.3 แนวทางการปฏิบัติเป็นการเฉพาะ ได้แก่ งานมงคลสมรส ต้องปฏิบัติตาม ข้อ 2.1 และ 2.2 ต้องจำกัดจำนวนคนรดน้ำสังข์ ให้น้อยที่สุด เช่น บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือแขกผู้ใหญ่เท่านั้น และต้องจัดแถวเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดพิธีแห่ขันหมาก งดหรือเลื่อนจัดงานเลี้ยงฉลองทุกประเภท

                สำหรับงานพิธีการศพ ต้องปฏิบัติตาม ข้อ 2.1 และ 2.2 โดยลดจำนวนวันสวดพระอภิธรรมศพให้น้อยที่สุด และใช้เวลาสวดให้น้อยที่สุด ต้องจัดอาสนะสงฆ์ ให้มีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร ต้องจัดเก้าอี้นั่งสำหรับแขกที่มาร่วมฟังสวดอภิธรรม หรือร่วมฌาปนกิจศพให้มีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่า 2 เมตร ต้องจำกัดจำนวนคนร่วมพิธีแห่ศพเวียนเมรุให้น้อยที่สุด และให้ตั้งแถวตอนลึก ต้องเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลไม่น้อยกว่า 2 เมตร ต้องจัดแถวระยะห่างระหว่างผู้ขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ไม่น้อยกว่า 2 เมตร ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หากเป็นกรณีผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และต้องปฏิบัติตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี หากเป็นกรณีศาสนาอิสลาม ส่วนศาสนาอื่นให้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำแนะนำขององค์การทางศาสนานั้นๆ

                นอกจากนี้ วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญ ควรงดการเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศาสนสถาน โดยให้ใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์แทน เช่น การฟังธรรมะออนไลน์ งดการใช้มือหยิบข้าวใส่บาตรพระภิกษุ สำหรับเทศกาลไหว้บรรพบุรุษ (เช็งเม้ง) ให้งดการเดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษ ณ สุสาน (ฮวงซุ้ย) โดยให้จัดพิธีกราบไหว้บรรพบุรุษ ที่บ้านแทน และงดการรวมญาติ

 

 

วธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติ \"เทศกาล-ประเพณี-พิธีทางศาสนา\"

 

 

                เทศกาลประเพณีสงกรานต์ 1) งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ 2) งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา หากต้องการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือแสดงความกตัญญูกตเวที หรือแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ควรใช้การสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ หรือช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ 3) งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเด็ดขาด และ 4) เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ ให้ปฏิบัติเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น อาทิ สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน รดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ที่บ้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของญาติผู้ใหญ่ที่สูงอายุ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

                ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง