ภาคเอกชนเตรียมเสนอเปิดห้างฯ - ร้านเสริมสวย
ภาคเอกชนเสนอขอเปิดห้างสรรพสินค้า - ร้านเสริมสวย เตรียมดูวิธีการพร้อมปรึกษาหมอ - ศูนย์โควิด ก่อนชง ครม. เห็นชอบ
13 เมษายน 2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ครั้งที่ 1/2563 ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ว่า
อ่านข่าว - สมาพันธ์ฯ ยื่นหนังสือขอให้เลื่อนวันออกหวยไปอีก จากเดิม 2 พ.ค. 2563
ที่ประชุมหารือหลายแนวทาง หลายเรื่อง จึงให้ตั้งทำงาน 5 ชุด เพื่อศึกษารายละเอียดกลับมาเสนอที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 20 เมษายน หากมาตรการไหนทำได้ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
โดยคณะทำงานชุดที่ 1 ให้ไปดูมาตรการที่รัฐบาลออกไปชุดที่ 1 - 3 ก่อนหน้านี้ ว่า ภาคเอกชน ธุรกิจ ที่ดำเนินการอยู่ คิดว่ายังติดขัดอะไร จะเสนออะไรเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาใหญ่ คือ หลายธุรกิจเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จึงให้ นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานดูแนวทางว่าจะปลดล็อกได้อย่างไร
คณะทำงานชุดที่ 2 ให้ไปพิจารณาธุรกิจบางธุรกิจที่สามารถกลับมาเปิดได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน การขยายเพิ่มการขนส่งโลจิสติกส์ โดยมี นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานชุดที่ 3 ดูเรื่องระบบเกษตรกร เรื่องเร่งด่วนทำอย่างไรให้ผลผลิตสามารถขายได้
คณะทำงานชุดที่ 4 มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอี ที่มีทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สามารถอยู่ได้ มีการจ้างงาน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานชุดที่ 5 เป็นคณะทำงานฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิด-19 เรื่องระบบดิจิทัลโซลูชั่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
นายกลินท์ กล่าวว่า จะเสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดได้ การขนสินค้าสำคัญบางประเภท ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนผันบ้างแล้ว ก็จะศึกษาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่จะเปิดได้เพิ่มเติม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ต้องดูวิธีการ ทำอย่างไร รวมทั้งปรึกษาหมอและศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องภาษี กรณีที่นำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี เป็น 7 ปี รวมถึงเวลาการบริจาคช่วยเหลือโควิด-19 โดยไม่ต้องมีเพดานกำหนดว่า นิติบุคคลห้ามเกิน 2% ของกำไร และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10% ของเงินได้
"ตอนนี้ผู้ประกอบการประเมินว่าในช่วงนี้จะมีแรงงานภาพรวมทั้งหมดตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อต่อไปอีก 2 - 3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำมีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน" นายกลินท์ กล่าว