"หมอธีระวัฒน์" ไขข้อสงสัย ปัจจัยที่ทำให้กลับไปเป็นซ้ำ
ไขข้อสงสัย "นพ.ธีระวัฒน์" อธิบายละเอียดยิบ โควิด-19 เป็นใหม่ได้หรือไม่ และหายแล้วยังแพร่ได้อีกระยะหนึ่งหรือไม่
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า มีเป็นใหม่ได้หรือไม่ และ หายแล้วยังแพร่ได้ อีกระยะหนึ่งหรือไม่?
อ่านข่าว อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก 22 เม.ย.2563 ยอดผู้ติดเชื้อ 2.5 ล้าน
ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ร่างกายพัฒนาระบบกำจัดไวรัสได้สมบูรณ์หรือไม่ และถ้ากำจัดได้ไม่สำเร็จก็จะใช้วิธีการควบคุมระยะยาว
และขึ้นกับว่า ไวรัสสามารถหลบ กระบวนการที่กำจัดหรือควบคุมระยะยาวได้เพียงใด และการที่ซ่อนตัว แฝงตัว ในที่ๆ การตรวจตราเข้าไม่ถึง รวมทั้งไวรัสเองยังสามารถที่จะแทรกแซงกระบวนการในการกำจัดไวรัสได้ทั้งในระยะต่างๆ ได้เก่งแค่ไหน
การกลับเป็นใหม่ยังขึ้นกับ : ระบบกำจัดไวรัสหลังจากที่มีการติดเชื้อแล้วจะอยู่ได้คงทน นานเพียงใด และ "ระบบจดจำ memory" ต่อไวรัส เมื่อมีไวรัสเข้ามาใหม่ก็สามารถทำลายได้ทันที จะดีเพียงใด แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก และต้องประเมินสถานการณ์ตามพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น และที่เกิดนั้นจะพบได้มากน้อยบ่อยเพียงใด จำเป็นที่จะต้องทราบการประพฤติ การปฏิบัติตัวของไวรัส การวิวัฒนาการของไวรัส ที่มีผลต่อการแพร่ต่อความรุนแรง ต่อการปรับตัวเข้ากับคนและสัตว์ชนิดต่างๆ มากขึ้นไปอีกหรือไม่ โดยไม่ได้ดูแต่รหัสพันธุกรรมอย่างเดียว
และต้องทราบการต่อสู้ของเซลล์ ของระบบน้ำเหลืองของคนที่ติดเชื้อ ควบรวมกับการติดตามทางระบาดวิทยา รวมกระทั่งถึงการเฝ้าระวัง ลักษณะการแสดงโรคที่อาจผิดเพี้ยนไปจากเดิม ไม่ว่าในระบบเดิม ที่เป็นอาการสำคัญ หรือเกิดขึ้นในระบบอวัยวะใหม่
ทั้งหมดนี้เป็นการ "มองโรค" ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมดเสียทีเดียว ที่เกิดจากไวรัสโดยเฉพาะในกลุ่ม RNA ไม่ว่าจะเป็นไวรัสในกลุ่มสมองอักเสบ ในกลุ่มไข้เลือดออก และในกลุ่มทางเดินหายใจ รวมทั้งถึงโควิด-19 ด้วย