ชงครม."เกษตรกร" รับเงินเยียวยา "โควิด-19" เคาะ 28 เม.ย.นี้
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมชง ขอ งบ 1.5 แสนล้านบาท เยียวยา "เกษตรกร" ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" และภัยแล้ง กับ ครม. 28 เม.ย.นี้ จ่ายครัวเรือนละ 1.5 หมื่นบาท ยึดตามเลขประจำตัวประชาชน ยืนยันชาวสวน-คนกรีดได้ทั่วถึง
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการเยียวยา โควิด-19 และภัยแล้ง วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกร รายละ 15,000 บาท เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยการจ่ายเยียวยาตามทะเบียนเกษตรกรที่ได้ลงทะเบียนไว้กับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และ กยท.ประมาณ 9-10 ล้านทะเบียน โดยการจ่ายเงินจะจ่ายผ่านบัญชีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
เบื้องต้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงหลักการ เงื่อนไข และเหตุผล ความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาเกษตรกร ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองไม่ได้มีปัญหา หรือสงสัยในเรื่องใดๆ ยกเว้นกระทรวงเกษตร ฯจะต้องให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปหารือกับกยท. เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนของ ทะเบียนเกษตรกร ก่อนที่จะเสนอ ครม.ในวันที่ 28 เมษายน นี้
สำหรับทะเบียนเกษตรกรที่มีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนเพราะแต่ละหน่วยงานโดยในเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักตรวจสอบความซ้ำซ้อนของทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด เพื่อความมั่นใจว่า จะไม่จ่ายเงินซ้ำซ้อน บัตรประชาชน 1 ใบ ได้รับสิทธิ์ 1 สิทธ์
สำหรับการลงทะเบียน เกษตรกร ไว้ในปี 2562 และ 2563 เป็นทะเบียนเกษตรกรล่าสุดที่มีการปรับปรุงมีจำนวนประมาณ 8.24 ล้านครัวเรือน จากก่อนการปรับปรุงเพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนมีจำนวน 10.64 ล้านครัวเรือน โดยแบ่งเป็น
-ทะเบียนเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ที่กรมปศุสัตว์ จำนวน 2.69 ล้านราย
-เกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 7.52 ล้านครัวเรือน
-เกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้ที่กรมประมง จำนวน 4.36 แสนราย
ทั้งหมดมีความซ้ำซ้อนกันประมาณ 2.40 ล้านราย ส่วนทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางแบ่งได้ดังนี้ 1.84 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์ 1.16 ล้านไร่ คนกรีดยางจำนวน 263,107 ราย รวมเกษตรกรเจ้าของสวน และคนกรีดมีจำนวน 1.43 ล้านราย ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวน 407,782 ราย
ด้าน นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทะเบียนชาวสวนยางมีประมาณ 1.8 ล้านราย/ทะเบียน ซึ่งแบ่งเป็น
ทะเบียนเกษตรกรที่ทำกินในที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 1.43 ล้านราย/ทะเบียน
ทะเบียนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวน 4.07 ล้านราย/ทะเบียน
ได้หารือเรื่องของทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว เกี่ยวกับการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนยาง
ทั้งนี้ แม้ กยท.จะมีมาตรการชดเชยราคายางพาราที่ราคายางแผ่น 60 บาท/กิโลกรัม(ก.ก.) แต่การเยียวยาในส่วนของโควิด-19 และภัยแล้งชาวสวนยางก็ต้องได้ เพราะมันถือเป็นคนละส่วนกัน ในส่วนของการชดเชยราคา เป็นมาตรการของกระทรวงที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป หลังจากการชดเชยภาพรวมเกษตรกรผ่านครม.ไปแล้ว