"ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบนฯ"ช่วย ปชช.มีกินแบบยั่งยืนช่วงวิกฤติ"โควิด-19"
"ศูนย์ศึกษาฯ อ่าวคุ้งกระเบนฯ จ.จันทบุรี" ช่วย ปชช.มีกินแบบยั่งยืนช่วงวิกฤติ"โควิด-19"ทำโครงการฝึกอาชีพระยะสั้น ถ่ายทอดความรู้ในการทำการเพาะปลูกประเภทพืชผักสวนครัว การเพาะเห็ดจากวัสดุเหลือใช้ การเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพ การเลี้ยงไก่ไข่
นายประจวบ ลีรักษาเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์ฯได้นำข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในพื้นที่ตำบลคลองขุดจาก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพบว่ามีผู้มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวจำนวน 20 คน จึงส่งเจ้าหน้าที่งานวิชาการการเกษตรของศูนย์เข้าไปดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรทั้ง 20 คน เพื่อให้มีความรู้และเข้าใจในการประกอบอาชีพตามสภาพและพื้นฐานที่พึงมี
ที่สำคัญเพื่อเป็นการให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ จึงจัดทำโครงการฝึกอาชีพระยะสั้นขึ้น ซึ่งมีทั้งการพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตร เช่น การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การปลูกพืชผักสวนครัว ตลอดจนการแปรรูปน้ำหม่อน การทำชูชิ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็มีเช่นกันแต่จะต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมที่นานกว่าเพราะมีความซับซ้อนมากกว่าทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้ประชาชนก้าวสู่ระดับมืออาชีพต่อไป
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังกล่าวอีกว่า ในตอนนี้จะเน้นด้านการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นก่อน เพราะสามารถเห็นผลและทำเงินได้เร็วเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องของเศรษฐกิจครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจาก"โควิด-19 " อย่างที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ถ่ายทอดความรู้ในการทำการเพาะปลูกประเภทพืชผักสวนครัว การเพาะเห็ดจากวัสดุเหลือใช้ การเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการยังชีพ และการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อนำไข่มาบริโภคภายในครัวเรือนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารในครัวเรือนก่อน โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เพาะเห็ด
ประกอบด้วย เห็ดฮังการี่ เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า ให้กับผู้มีรายได้น้อยจำนวน 6 คน ที่สมัครใจ เพื่อให้มีเห็ดบริโภคในครัวเรือน หากเหลือค่อยจำหน่ายแก่ผู้คนในชุมชน และนำรายได้ส่วนนี้มาเป็นใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ที่ครอบครัวต้องการต่อไป ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ สามารถนำข้อมูลจากความพึงพอใจ และความต้องการของราษฎรมาวางแผนงานเพื่อดำเนินการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความเหมาะสมให้ได้ครบทั้ง 20 คน ในโอกาสต่อไป
“ทั้งนี้ทางศูนย์ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2563 มาถึงวันนี้ 6 พฤษภาคม 2563 สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว และยังนำออกขายหลังจากบริโภคในครัวเรือนเพียงพอแล้ว เป็นรายได้เสริมที่ดีทีเดียว ปัจจุบันทั้ง 6 รายนี้สามาถเก็บผลผลิตได้ 46 กิโลกรัม มีรายได้จากการขายเห็ดถึง 2,200 บาท ขณะที่การเก็บเห็ดก็ยังสามารถเก็บได้ทุกวันอย่างต่อเนื่องประมาณ 5 เดือน ก้อนเห็ดจึงจะหมดอายุ และเห็ดที่เข้าไปส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงนั้นจะเป็นเห็ดฮังการี่ เห็นนางรม เห็ดนางฟ้า ส่วนนี้จะเพาะได้ค่อนข้างง่าย ต่อไปก็จะต่อยอดด้วยการส่งเสริมให้เพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการดีและขายได้ราคา “ นายประจวบ ลีรักษาเกียรติ กล่าว
และนอกจากหลักสูตรที่เปิดฝึกอบรมแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังเตรียมกล้าไม้จำพวกพืชผักสวนครัวเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อน เช่น กล้าหม่อน 5,000 กล้า ผักคิ่ว หรือวอเตอร์เครส เพื่อนำไปปลูกสำหรับบริโภคภายในครัวเรือนเป็นการเริ่มต้น เหลือค่อยนำออกจำหน่ายต่อไป ซึ่งมีกล้าพืชผักสวนครัวหลายชนิด เช่น แคขาว แคแดง มะเขือเปาะ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็มีประเภทไม้ยืนต้นกึ่งล้มลุก เช่น กระถิน รวมถึงประเภทล้มลุกเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วต้องปลูกใหม่ เช่นผักบุ้งก็มีเตรียมไว้แจกจ่าย เช่นกัน
ส่วนทางด้านการประมงนั้น ทางศูนย์ได้เตรียมพันธุ์สัตว์น้ำไว้ให้เกษตรกร ประกอบด้วยปลากะพงขาว และกุ้งกุลาดำ เพื่อให้นำไปปล่อยในบ่อที่เกษตรกรมีอยู่แล้วและให้หากินตามธรรมชาติ ซึ่งเกษตรกรจะเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็สามารถจับขึ้นมาบริโภคและขายได้ โดยเกษตรกรและประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ถึงวิธีการเพาะเลี้ยงจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ หลังจากฝึกอบรมแล้วก็จะมอบปัจจัยการผลิตเหล่านี้ให้แก่เกษตรกรโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น