ปรบมือรัวๆ หนุ่มวัย 25 สอบติดผู้พิพากษาตั้งแต่ครั้งแรก
ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด หนุ่มเปิดใจสอบติดผู้พิพากษาในวัย 25 ปี พร้อมเผยเคล็ดลับการเรียนกฎหมายต้องมีใจรักและความขยัน แนะทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ
นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่ายินดีอย่างยิ่ง หลังเพจ "นิติรามเพื่อนแท้" โพสต์แสดงความยินดีกับ นายศตพัฒน์ แขกเพ็ง หนุ่มวัย 25 ปี ที่สอบติดผู้พิพากษาตั้งแต่ครั้งแรก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แถมดีกรีไม่ธรรมเพราะจบปริญญาตรีในวัยเพียง 18 ปีอีกด้วย
โดยเพจ นิติรามเพื่อนแท้ ระบุว่า หลังจาก ปธ.ศาลฎีกา ประกาศผลผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่น 73 จำนวน 171 ราย สอบได้อันดับ 1 เป็นเด็กต้นกล้าตุลาการรุ่นแรก โดยว่าที่ผู้พิพากษาใหม่ท่านนี้ คือ นายศตพัฒน์ แขกเพ็ง #สอบติดที่1ผู้ช่วยผู้พิพากษา #สอบติดอันดับ3เนติบัณฑิตไทย #สอบติดครั้งแรกวัย25 #จบปริญญาตรี18พรีดีกรี
โดยอันดับความพีคแบบขนลุกที่มากกว่าปกติ คือ
- ท่านนี้จบพรีดีกรีรามด้วยวัย 18 ปี (ใช่ครับ 18 ปีในขณะที่หลาย ๆ คนยังหาคณะเรียนกันอยู่เลย จบ ป.ตรีแล้ว)
- เป็น 1 ใน โครงการต้นกล้าตุลาการรุ่นแรก ซึ่งเป็นการเน้นให้เห็นว่าเสาที่ 3 คือ เสาแห่งตุลาการไทยได้ทำโครงการนี้ออกมา เกรดสอบผ่าน คือ A
- ได้ที่ 3 เนติบัณฑิตไทย ซึ่งปกติ การสอบเนติบัณฑิตติดใน 10 ลำดับแรก ถือว่าท็อปฟอร์มมาก ๆ แล้ว เพราะสนามนี้ เราจะเจอบัณฑิตเก่ง ๆ จากทั่วประเทศในสายนิติศาสตร์อยู่แล้ว โดยท็อป 10 ต้น ๆ ส่วนใหญ่มาจาก ม.ธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- และ อีก Step ความเหนือคือ ว่าที่ผู้พิพากษาท่านนี้สอบติดตั้งแต่ครั้งแรกที่คุณสมบัติด้านอายุถึง คือวัยเพียง 25 ปี ที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งถือเป็นอะไรที่พิเศษ ยิ่งกว่าพิเศษใส่ไข่อีก
ทั้งนี้ นายศตพัฒน์ แขกเพ็ง ว่าที่ผู้พิพากษา ได้เล่าถึงวิธีการศึกษากฎหมายไว้ด้วยว่า การที่เราจะทำสิ่งใดได้ดีนั้นจะต้องมีใจรักและอยากจะทำสิ่งนั้นๆจริงๆ การเรียนกฎหมายก็เช่นกัน มันต้องเริ่มจากความรู้สึกอยากจะเรียนจริงๆ ไม่ใช่เพราะถูกบังคับหรือเพราะไม่รู้จะเรียนอะไร แต่แน่นอนครับน้อยคนมากที่เข้ามาเรียนเพราะความรู้สึกแบบนี้แต่แรก ดังนั้นเราควรจะสร้างความรู้สึกแบบนี้ขึ้นมาให้ได้ โดยอาจจะหาแรงบันดาลใจจากใครสักคน หรือเพื่อเป้าหมายที่เราวางเอาไว้ว่าอยากจะเป็น
เมื่อใจมาแล้วก็ไม่ยากแล้วครับ สิ่งที่มีต่อมาคือความขยัน วิชากฎหมายเป็นวิชาที่ต้องอาศัยความขยันเข้าช่วย เพราะสำหรับวิชากฎหมายนี้ไม่มีคนเก่งมีแต่คนขยัน ไม่มีคนโง่มีแต่คนขี้เกียจ แต่บางทีความขยันนั้นเราควรขยันให้ถูกที่ถูกทางด้วยเพราะเช่นนั้นความขยันก็สูญเปล่า
สำหรับวิธีการเรียนกฎหมายในชั้นปริญญาตรีของตัวผมเองนั้น เนื่องด้วยผมเข้าศึกษาในหลักสูตร พรีดีกรี ซึ่งต้องเรียนควบคู่ไปกับชั้นมัธยมปลาย การแบ่งเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งผมจะเริ่มวางแผนจากการลงทะเบียนเรียน โดยจะลงเท่าที่คิดว่าตัวเองจะพอสอบไหว โดยต้องดูวันสอบให้ห่างกันเพื่อจะได้มีเวลาพอที่จะทบทวน พอลงทะเบียนเสร็จแล้ว ผมก็จะไปหาซื้อหนังสือทุกวิชา เพราะผมไม่ได้มีโอกาสเข้าฟังคำบรรยายจึงต้องซื้อหนังสือทั้งหมดกลับไปอ่านเอง โดยหลักจะเป็นตำราของท่านอาจารย์และเสริมด้วยชีทสรุปและข้อสอบเก่าหน้าราม พอได้หนังสือกลับมาครบแล้วก็จะแบ่งเวลาอ่านหนังสือ
โดยจะอ่านทุกวันวันละ 1 ชม. แต่เป็น 1 ชม.ที่อ่านแบบเข้าใจ เวลาอ่านหนังสือจะอ่านได้นานเท่าไหนไม่ใช่สิ่งสำคัญ มันสำคัญที่ว่าเราได้อะไรจากการอ่านในครั้งนั้นๆบ้าง แต่ที่สำคัญต้องสร้างนิสัยของการรักการอ่านขึ้นมาโดยจะต้องอ่านหนังสือทุกวัน และควรจะโน้ตย่อไปด้วยในทุกๆครั้งที่อ่าน ซึ่งการโน้ตย่อไปด้วยในเวลาอ่านนั้นจะทำให้เรารู้ว่าเราเข้าใจในสิ่งนั้นๆมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังสามารถนำมาทบทวนในช่วงใกล้สอบได้อีกด้วย
ซึ่งส่วนตัวผมแล้ว ผมคิดว่าการโน้ตย่อจะทำให้การอ่านหนังสือเป็นรูปธรรมมากขึ้น เวลามีปัญหาอะไรติดค้างคาใจก็ไม่รู้จะไปถามใครที่ไหน ก็จะใช้วิธีไปถามคนใน facebook โดยจะถามจากกลุ่มของเด็ก นิติราม. กลุ่มของ นศ.เนติ หรือกลุ่มสำหรับเตรียมสอบผู้พิพากษา/อัยการ คำตอบที่ได้ก็จะหลากหลายกันไป ซึ่งนอกจากจะได้คำตอบตรงบ้างไม่ตรงบ้าง เรายังได้รู้ความคิดเห็นของคนอื่นด้วย เพราะการเรียนวิชากฎหมายเราไม่สามารถเรียนคนเดียวได้ ซึ่งสำหรับใครที่มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังคำบรรยายควรจะหาเพื่อนที่เรียนด้วยกันเวลามีปัญหาจะได้ปรึกษากันและที่สำคัญเวลามีปัญหาอะไร ก็ควรเข้าไปถามอาจารย์ท้ายคาบเลย อย่าให้ปัญหานั้นสะสมจนเราเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะมันจะทำให้เราไม่สนุกกับการเรียน
หลายคนชอบถามว่า ต้องจำตัวบทไหม ตอบได้เลยว่าต้อง ซึ่งในช่วงแรกๆผมท่องตัวบทเยอะมาก ท่องจนแทบจะจำได้ทุกตัวอักษร แต่สุดท้ายก็สอบตกเพราะไม่รู้ความหมายและวิธีการใช้ตัวบทมาตรานั้นๆ อาศัยท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง เจอข้อสอบก็ทำไม่ได้ ผมเลยใช้วิธีใหม่คือทำความเข้าใจกับตัวบทโดยอ่านจากตำรา ตัวอย่างจากคำพิพากษาศาลฎีกา โดยเวลาอ่านหนังสือก็จะเปิดตัวบทควบคู่ไปด้วยตลอดและจดโน้ตย่อเฉพาะเรื่องสำคัญๆหรือตัวอย่างแปลกๆเข้าไปข้างๆตัวบทมาตรานั้นๆ เมื่อเราเข้าใจมาตราดังกล่าวได้เป็นอย่างดีแล้ว เวลาเรามานั่งท่องตัวบทก็จะทำให้จำง่าย เพราะเราท่องจากความเข้าใจ ไม่ใช่ท่องแบบนกแก้วนกขุนทองโดยไม่รู้อะไรเลย
ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกานั้นเป็นตัวอย่างของการปรับใช้กฎหมาย จึงมีความสำคัญต่อการเรียนกฎหมายมากซึ่งธงคำตอบส่วนใหญ่จะอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกา แต่การที่เราจะมาอ่านฎีกาได้นั้นเราควรมีความรู้ในหลักเรื่องนั้นๆมาก่อน ข้อสอบเก่าก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นเสมือนลายแทงในการดูหนังสือ ข้อสอบส่วนใหญ่ชอบออกในเรื่องใดแสดงว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเราควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนั้นๆเป็นพิเศษ
การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายในชั้นปริญญาตรีนั้นเนื่องจากข้อสอบมีประเด็นไม่มากและมีเวลาพอสมควร ผมจึงใช้วิธีวางหลักกฎหมายก่อนและอธิบายหลักเล็กน้อยแล้วจึงปรับหลักกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง และสรุปผลของการวินิจฉัยในส่วนท้าย การเขียนตอบข้อสอบที่จะทำให้ได้คะแนนดีควรเก็บให้ครบทุกประเด็น อย่าพึ่งใจร้อนไปตอบธงคำตอบหลักเลย ค่อยๆปรับไปเรื่อยๆ และควรใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนไม่กำกวมอ่านง่าย เขียนตัวโตๆ ควรขึ้นย่อหน้าใหม่ทุกครั้งเมื่อขึ้นประเด็นใหม่
ต่อมาเมื่อผมได้มาเรียนชั้นเนติบัณฑิต ผมก็ปฏิบัติดังที่กล่าวมาข้างต้นทุกประการ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือผมได้มีโอกาสมานั่งฟังคำบรรยายที่เนติบัณฑิตยสภาฯ เวลามีปัญหาอะไรก็มักจะเข้าพบอาจารย์ท้ายคาบเสมอ และตำราที่ใช้เป็นหลักในการเรียนในชั้นนี้คือรวมคำบรรยายของเนติฯ โดยผมจะหาซื้อคำบรรยายสมัยที่แล้วมาฉีกเป็นเล่มแยกเป็นรายวิชา แล้วก็อ่านควบคู่ไปกับการเข้าฟังคำบรรยาย และรับคำบรรยายในสมัยนี้ด้วย เวลาผมเข้าเรียนผมจะตั้งใจมากพอกลับมาก็อ่านคำบรรยายทบทวนและท่องตัวบท ทำแบบนี้จนเป็นกิจวัตรประจำวัน
และไม่ว่าเราจะเตรียมตัวมาดีแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าสอบซึ่งนอกจากความรู้แล้วคือ สติ บางคนเตรียมตัวมาดีมากแต่พอใกล้สอบสติแตกจนทำไม่ได้ก็มี เราจึงควรหาวิธีจัดการกับอารมณ์และสมาธิของเราก่อนสอบ โดยสำหรับผมผมจะพยายามคิดว่าการสอบเป็นเรื่องที่เล็กที่สุดของชีวิต สอบไม่ได้ก็สอบใหม่ และพกความมั่นใจเต็มร้อยเข้าไปนั่งสอบ โดยก่อนเริ่มทำข้อสอบผมจะนั่งนิ่งๆไม่คิดอะไรประมาณ 5 นาที และลงมือทำข้อสอบ รุ่นพี่หลายคนแนะนำให้เปิดดูข้อสอบทั้ง 10 ข้อก่อน และเขียนเลขมาตราที่ต้องใช้เอาไว้ที่กระดาษคำถาม แล้วค่อยกลับมานั่งทำทีละข้อ แต่ผมรู้ดีว่าวิธีนี้ไม่เหมาะกับผมเพราะเวลาเราดูครบทั้ง 10 ข้อแล้ว แล้วกลับมานั่งเขียนทีละข้อเราก็ต้องเสียเวลาอ่านโจทย์ใหม่อีกรอบและสติเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่ข้อที่เรากำลังจะเขียน แต่อาจจะไปพะวงกับข้ออื่นๆที่อ่านมาแล้วว่าจะทำข้อนั้นได้ไหม ที่ธงคำตอบที่เขียนไว้แต่ละข้อนั้นถูกไหม ยิ่งทำให้ไม่มั่นใจและเสียเวลา ผมจึงเริ่มทำทีละข้อ ข้อไหนไม่ได้ข้ามไปก่อนแล้วค่อยกลับมาทำทีหลัง
ส่วนในการเขียนตอบข้อสอบในชั้นเนติบัณฑิตของผมจะต่างไปจากตอนเรียนปริญญาตรี เพราะเนื่องด้วยจำนวนข้อสอบที่มีมากถึง 10 ข้อ และแต่ละข้อก็มีหลายประเด็น และมีเวลาเพียง 4 ชั่วโมง ผมจึงใช้วิธีปรับข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมายเลย โดยเขียนให้กระชับและได้ใจความมากที่สุด
สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่าไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนที่ประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างถูกวิธี และไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง ดังนั้นเราควรทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ อย่าคิดว่าตนรู้แล้วเก่งแล้วเลยไม่ฟังใคร เพราะบางทีเราอาจจะยังไม่รู้อะไรเลยก็ได้ และความไม่รู้ที่น่ากลัวที่สุดคือ "ไม่รู้ว่าไม่รู้อะไร"