ชาวลำปางโล่งอก โยธาฯยันไม่ทุบทิ้ง "บ้านหลุยส์" อายุกว่า 100 ปี
ชาวบ้านโล่งอก โยธาฯลำปางยันปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลุยส์ ไม่ทุบทิ้งเหมือนบ้านเก่า จ.แพร่ ชี้ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แค่เสริมโครงสร้างให้แข็งแรงเพื่อความปลอดภัย-สวยงาม
จากกรณีที่เกิดกระแสดราม่าหลังจากมีบริษัทผู้รับเหมาในจังหวัดแพร่ทุบทิ้งอาคารไม้เก่าแก่ของบริษัท บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด บริเวณชุมชนเชตวัน ริมแม่น้ำยม จ.แพร่ โดย จ.ลำปาง ในโลกสังคมออนไลน์ได้มีกระแสแสดงความเป็นห่วง "บ้านหลุยส์" คฤหาสน์อายุกว่า 114 ปี ซึ่งตั้งอยู่ในอุตสาหกรรมป่าไม้ ใน จ.ลำปาง ซึ่งเคยเป็นบ้านของนายห้างค้าไม้ชาวอังกฤษ นามว่า หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ลูกชายแหม่มแอนนา ลีโอโนเวนส์ ที่เคยทำงานร่วมกับบริษัท บอมเบย์เบอร์มา ในเรื่องการสัมปทานไม้
โดยอาคารดังกล่าวตั้งอยู่ในชุมชนท่ามะโอ ขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งหลังจากที่มีการโพสต์ได้มีชาวเน็ตได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะเหมือน จ.แพร่ บางคนเสนอให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ บางส่วนให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้ยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวเอาไว้ก่อน
ล่าสุดขณะนี้พบว่ามีการรื้อส่วนของหลังคาออกไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการทำโครงการตัวหลังคาทั้งสองหลัง โดยนายประทีป ประคองวงศ์ โยธาธิการและผังเมือง จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า การก่อสร้างดังกล่าวเกิดจากความต้องการของชุมชน ของคนที่ต้องการอนุรักษ์เมืองเก่า ก่อนจะดำเนินการได้มีการออกแบบดูแบบกันมาตลอด เราไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงอะไร แค่มาเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงขึ้น อันไหนผุใช้งานไม่ได้ก็เปลี่ยนให้ รูปทรงอื่นๆยังคงเหมือนเดิมทั้งหมด
ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กรมศิลปากร ได้เข้ามาขอข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมแซมอาคารดังกล่าวเช่นกัน เพื่อนำไปเสนอผู้บังคับบัญชาดูว่าอาคารดังกล่าวจะสามารถขอขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ส่วนการปรับปรุงซ่อมแซมในครั้งนี้ชาวลำปางไม่ต้องเป็นห่วง จะไม่มีการทุบทิ้งเหมือน จ.แพร่ แน่นอน
ด้าน นายศักดิ์ชัย กิจเจริญ สถาปนิกปฏิบัติการสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง ได้นำแบบแปลนการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารทั้งสองหลัง พร้อมกับนำภาพถ่ายก่อนที่จะเข้าทำการปรับปรุงมาให้ดูสภาพความทรุดโทรมของตัวบ้าน พร้อมระบุว่ารูปทรงยังเป็นแบบเดิมทั้งหมด แต่อาจจะมีการเปลี่ยนบางอย่าง ภายนอกที่เคยเป็นไม้ยังคงเป็นไม้เช่นเดิม ส่วนโครงสร้างหลังคาที่เสียหายผุพังจะเป็นโครงเหล็กเพื่อความแข็งแรง
เนื่องจากอาคารดังกล่าวก่อสร้างแบบวัด คือ ไม่มีฐานราก เมื่อก่อนหน้านี้น้ำท่วมทำให้ดินยุบตัวอาคารจึงเสียศูนย์คือมีการเอียงไปตามสภาพพื้นดิน ส่วนไหนที่เสียหายและดูแล้วจะเป็นอันตรายก็ไปเสริมความแข็งแรงเพื่อความปลอดภัยและยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น ทั้งนี้ทางผู้ก่อสร้างยังคงยึดโครงการเดิมที่ยังแข็งแรงไว้ทั้งหมด ส่วนที่ใช้ไม่ได้และเสี่ยงอันตรายก็ต้องเอาออก แต่จะทำให้เหมือนของเดิมมากที่สุด
อย่างบางส่วนเช่น เสา ก็ต้องตัดส่วนที่ปลวกกินออกแล้วต่อเสาใหม่ เพื่อยึดให้แข็งแรงและทำให้คล้ายเสาเดิมมากที่สุด บางส่วนก็ต้องเสริมเสาไม้เข้าไปเพื่อรับน้ำหนัก หลังคากระเบื้องลอนคู่เก่าที่แตกก็ต้องเปลี่ยน คานเดิมเป็นไม้แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม้สัก ปลวกกินเกือบหมดก็ต้องเปลี่ยนใช้โครงเหล็กแทน แต่จะต้องปิดเพดานด้วยไม้เช่นเดิม ส่วนอาคารหลังเล็ก เดิมหลังคาเป็นสังกะสีรั่วเพดานผุหล่นลงมาบางส่วน โครงการภายในเสียหายมาก ก็ต้องเปลี่ยน
---------------------------------
โดย ณัฐวัฒน์ ธนากูลธิติรัตน์ จ.ลำปาง