ไขคำตอบ สีของแสงดาวตกที่เราเห็นทำไมจึงแตกต่างกัน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ไขคำตอบ เหตุใดเราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความไขข้อสงสัยทำไมสีของดาวตกจึงปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยระบุว่า
"ดาวตก" เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่างๆ
เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี และ โมเลกุลของอากาศโดยรอบ
แสงที่เปล่งออกมาจากอะตอมโลหะของดาวตก จะแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบทางเคมี เช่น อะตอมแคลเซียม (Ca) ให้แสงสีออกโทนม่วง อะตอมแมกนีเซียม (Mg) ให้แสงสีฟ้าเขียว อะตอมโซเดียม (Na) ให้แสงสีส้มเหลือง อะตอมเหล็ก (Fe) ให้แสงสีเหลือง
ในขณะที่โมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลก จะมีอะตอมของออกซิเจน (O) และไนโตรเจน (N) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะให้แสงสีแดง ดังนั้นสีของดาวตกจึงขึ้นอยู่กับการเปล่งแสงของอะตอมแต่ละชนิด
สำหรับ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ในคืน 13 ธันวาคมที่จะถึงนี้ คาดว่ามีอัตราการตกมากถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง แถมไม่มีแสงของดวงจันทร์รบกวน เป็นโอกาสดีมากๆที่จะได้นอนดูและสังเกตสีของฝนดาวตกกัน จะนอนดูที่บ้านหรือมาดูกับ NARIT ที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน จ.เชียงใหม่ ก็ได้ หรือใครไม่สะดวกมาเชียงใหม่เรามีจัดอีกสองที่ ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา