ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เสวนาออนไลน์ เสนอผลวิจัยและทิศทางร่วมแก้ปัญหาการเสพติดบุหรี่
ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เสวนาออนไลน์ เสนอผลวิจัยและทิศทางร่วมแก้ปัญหาการเสพติดบุหรี่
ในภาวะที่ทุกประเทศกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขที่ทั่วโลกมุ่งให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาการระบาด ป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้นและเร่งคิดค้นผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการใช้ของประชากรโลก ประเด็นสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่นการแก้ปัญหาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับรอง ๆ ลงไป
ในความเป็นจริงแล้ว ท่ามกลางความกังวลของการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นนี้ เรื่องของการสูบบุหรี่ควรต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดมากขึ้น เพราะยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่กับการติดโรคโควิด ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลการวิจัยใด ๆ สรุปออกมาเป็นที่แน่นอนว่าการสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคโควิดได้
จึงเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวในระดับสากลเกี่ยวกับการจัดการปัญหาจากควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้มีการพูดคุยกันบนหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาวิจัยรอบด้าน โดยล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายควบคุมยาสูบและนักวิจัย-นักวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวม ร่วมสัมมนาทางวิชาการออนไลน์ หัวข้อ The Virtual E-Cigarette Summit 2020 เพื่อนำเสนอผลการวิจัยและทิศทางในการร่วมกันแก้ปัญหาการเสพติดบุหรี่
จากรายงานสรุปการสัมมนา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อลัน บูบิส (Prof. Alan Boobis) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ในฐานะประธานที่ปรึกษางานวิจัย ชี้ถึงความเป็นไปได้ในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่แบบเผาไหม้ โดยการสนับสนุนให้เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าทดแทน เพราะมีรายงานวิจัยอ้างอิงว่ามีสารอันตรายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่มวน ทั้งนี้ บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ จึงควรมีกฎหมายควบคุมให้เข้มงวดเพื่อป้องกันผู้ไม่สูบบุหรี่
โดย ศจ. อลัน นำเสนอข้อมูลงานวิจัยล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ของคณะกรรมการศึกษาความเป็นพิษของสารเคมีในผลิตภัณฑ์อาหารและสิ่งแวดล้อม (หรือ The Committee on Toxicity of Chemicals in Foods, Consumer Products and the Environment: COT) (รายละเอียดเพิ่มเติม https://cot.food.gov.uk) ซึ่งเสนอข้อมูลสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ผลการศึกษาสารปรุงแต่งใช้ที่ผสมในบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งความเป็นพิษของตัวสารเคมีเอง และเมื่อความนำไปผสมกับน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งเมื่อกลายเป็นไอละอองระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้า พบว่าของเหลวในบุหรี่ไฟฟ้า โพรพิลีนไกลคอล (propylene glycol ) และหรือกลีเซอรีน (glycerol) อยู่ในระดับที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายเมื่อผู้ใช้หรือผู้ที่อยู่รอบข้างหายใจเข้าไปในระยะสั้นถึงระยะกลาง และยังไม่มีหลักฐานว่าก่ออันตรายแน่ชัดในกลุ่มผู้ใช้เป็นเวลานานหรือผู้ใกล้ชิดแต่อย่างใด ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยสนับสนุนหลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของบุหรี่ไฟฟ้าในด้านสาธารณสุขของสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) ที่เคยเผยแพร่ก่อนหน้านี้
2. สารแต่งกลิ่นในบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีคุณภาพและความปลอดภัยระดับเดียวกับสารแต่งกลิ่นแต่งรสอาหารทั่วไป และ 3. ในไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้าพบสารเคมีที่ก่อให้เกิดพิษต่อร่างกายในปริมาณที่น้อยกว่าหรือไม่พบเลยเมื่อเทียบกับควันจากบุหรี่มวน เช่น ปริมาณของสารไนโตรซามีน เอ็นเอชเค ( NNK) ที่พบเป็นจำนวนมากในควันบุหรี่ กลับพบในบุหรี่ไฟฟ้าที่ระดับต่ำกว่า 0.3% อีกทั้ง ไม่พบสารปรอทในบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนสารตะกั่ว สารหนู โคบอลท์ หรือ แคดเมียม ก็พบเป็นจำนวนน้อยมากในบุหรี่ไฟฟ้า
ศจ. อลัน ยังได้ชี้ถึงฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางหรือ CNS effect ของนิโคตินซึ่งเป็นสาเหตุของการเสพติดนั้น คือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่มวนเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะขณะที่ผู้ใช้ยังคงได้รับสารนิโคตินแต่ผลกระทบต่อสุขภาพและคนใกล้ชิดมีน้อยกว่า รวมถึงยังไม่มีรายงานการศึกษาระบุความเกี่ยวข้องของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีไอระเหยคล้ายควันสีขาวกับการก่อมลภาวะหรือมีส่วนสร้างฝุ่นพิษ PM2.5 แต่อย่างใด
เดบรา อาร์นอตต์ (Debora Arnott) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายควบคุมการใช้บุหรี่และยาสูบ ผู้ร่วมกำหนดโครงร่างนโยบายการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า มีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้า สามารถช่วยคนสูบบุหรี่ที่ยังต้องการนิโคตินและไม่สามารถเลิกใช้ได้เด็ดขาด การเลิกสูบบุหรี่มวนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้สุขภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งมันเป็นประโยชน์ในทางสาธารณสุขมวลรวมที่ควรจะดำเนินต่อ แต่สิ่งที่จำเป็นยิ่งยวดคือ ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีส่วนประกอบของสารนิโคตินที่ถูกผลิตออกมาสู่ตลาดจำเป็นต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงต่อเยาวชนมากที่สุด
ที่ประชุม The Virtual E-Cigarette Summit2020 ยังมีข้อเสนอเป็นรูปธรรมผลักดันเพื่อให้ประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนและแก้ปัญหาที่เกิดจากการเสพติดบุหรี่อย่างแท้จริง ได้แก่ ยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและอนุญาตการใช้โดยมีกฎหมายควบคุมอย่างสมเหตุสมผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและสามารถตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสารนิโคตินเหลวในส่วนผสมของบุหรี่ไฟฟ้าให้อยู่ในปริมาณที่ลดอันตรายต่อสุขภาพให้น้อยที่สุด และ ข้อควรห้ามคือ ห้ามการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าทั้งทางตรงและโฆษณาแฝง เช่นเดียวกับควบคุมการโฆษณาบุหรี่อย่างจริงจัง
หันกลับมามองที่บ้านเรา บุหรี่ไฟฟ้าถูกกำหนดให้เป็นสินค้าผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามให้บริการ แต่เราก็ยังมีการขายบุหรี่ไฟฟ้าตามสื่อออนไลน์ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณสินค้าแบบไร้การควบคุม การปล่อยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าใต้ดิน กลับทำให้การควบคุมบังคับใช้กฎหมายมีความลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น จึงควรตั้งคำถามว่า ประเทศไทยจะจัดการกับปัญหานี้ให้เด็ดขาดได้อย่างไรในปี 2564