ส.ส.ก้าวไกล เสนอถกงานวิจัยปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า หลังนักวิชาการต่างชาติวิจารณ์ไทยล้มเหลวลดผู้สูบบุหรี่
ส.ส. เชียงราย พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เผยบทความระดับโลกล่าสุดยกสหราชอาณาจักรลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ดีกว่าประเทศไทย เรียกร้องรัฐเปิดมุมมองและทำแผนสังคมปลอดบุหรี่ในไทยแบบใหม่พร้อมเสนอถกข้อมูลทางวิชาการและดูแนวทางประเทศอื่นเพื่อปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า
นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขต 1 จ.เชียงรายและกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อบัญชี "หมอเอก Ekkapob Pianpises" (@DoctorEkkapob ) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 เรียกร้องให้ภาครัฐยอมพิจารณาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปรับแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยแทนการคัดค้านแบบเดิม โดยไม่ยอมรับข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ
ส.ส.เอกภพ ระบุว่า “ช่วงนี้เขียนถึงโควิดบ่อยๆ จนหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าตลอดปีกว่าที่ผ่านมามีเรื่องเชิงนโยบายที่ผมตามอยู่ เรื่องหนึ่งคือการให้ยอมพิจารณาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปรับแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาหลับหูหลับตาคัดค้านบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่ดูบริบทของอุตสาหกรรมยาสูบโลกที่เปลี่ยนไปและไม่ได้ดูข้อมูลทางวิชาการที่มีออกมาใหม่เรื่อย ๆ เหมือนที่บางองค์กรและคนบางกลุ่มทำ”
นอกจากนี้ ส.ส.เอกภพ ยังได้อ้างอิงข้อมูลจากวารสารทางวิชาการ ของ R Street Policy Study ฉบับเดือนกันยายน 2020 หัวข้อ "สำรวจความแตกต่างด้านนโยบายควบคุมยาสูบเทียบระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย" โดย อเล็ค อุลลาเชวิช และ เชลซี บอยด์ ซึ่งเนื้อหาจากวารสารดังกล่าวระบุว่าทั้งประเทศไทยและอังกฤษยึดแนวทางขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในการปกป้องสุขภาพของประชนจากการสูบบุหรี่ แต่สิ่งที่ประเทศไทยและอังกฤษแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ ไทยเลือกที่จะแบนบุหรี่ไฟฟ้าและรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่มีการเผาไหม้ ขณะที่อังกฤษกลับอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่าสำหรับผู้สูบบุหรี่
ส.ส.เอกภพ สะท้อนปัญหาในไทยว่า “ดูเหมือนว่าตัวเลขผู้สูบบุหรี่ของไทยจะไม่ค่อยลดลงในช่วงหลายปีหลัง สาเหตุอาจเนื่องมาจากการใช้แนวทางขององค์การอนามัยโลกนั้นดูเหมือนจะมีจุดที่เป็นข้อจำกัดให้การทำแบบเดิมต่อไปก็ไม่สามารถลดจำนวนผู้สูบได้ ความแตกต่างระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรที่น่าจะเป็นเหตุให้ตัวเลขผู้สูบของสหราชอาณาจักรลดลง คือ เขามีนโยบายเปิดให้มีการใช้บุหรี่แบบที่ไม่มีการเผาไหม้ซึ่งก็เป็นพวกบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามามีส่วนในการช่วยเลิกบุหรี่ด้วย”
สถิติปัจจุบันจาก WHO ที่ระบุตัวเลขผู้ใช้บุหรี่แบบเผาไหม้ทั่วโลกมากถึง 1.3 พันล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการบริโภคยาสูบสูงถึง 8 ล้านคนต่อปี ตัวเลขความสูญเสียเหล่านี้ทำให้องค์กรด้านสาธารณสุขต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมยาสูบทุกประเภท
“แน่นอนว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ แต่ถ้าหากมีทางที่จะสามารถทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดจำนวนลงได้และเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ยังสูบสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่อันตรายน้อยกว่าบุหรี่แบบดั้งเดิมทำไมเราถึงไม่พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ส.ส.เอกภพย้ำว่าควรต้องมีการการผลักดันกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และทิ้งท้ายว่า “ถึงเวลาที่เราต้องมีมุมมองใหม่และทำแผน Smoke free society Thailand แบบใหม่กันครับ” ส.ส.เอกภพ ระบุ
หลังจากข้อความของส.ส.เอกภพถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่มีผู้ติดตามกว่า 9 พันคน ก็ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า สะท้อนถึงสถานการณ์จริงที่ประเทศไทยยังเน้นโจมตีบุหรี่ไฟฟ้า โดยใช้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ยอมรับงานวิจัยจากต่างประเทศ ดังที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ในชื่อ "Kmonpob Jongjaikong" แสดงความเห็นว่า “ในโรงพยาบาลของอังกฤษมีบุหรี่ไฟฟ้าขายนะครับ รัฐบาลเขาสนับสนุนให้ใช้แบบปลอดภัย มองกลับมาที่ประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าต้องห้าม แบนห้ามนำเข้า ทุกวันนี้คนฉลาดขึ้น สามารถหาข้อมูล หรือสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตได้ครับจะควบคุม NIC (นิโคติน) เท่าไหร่ยังไงเรากำหนดได้ เพื่อการใช้แบบปลอดภัย หลัก ๆ คือตอนนี้แก้กฎหมายแบนบุหรี่ไฟของกระทรวงพาณิชย์ก่อนดีกว่าครับ"
อีกหนึ่งความเห็นโดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Prapan Seesun สะท้อนว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้านั้นทำให้เสียประโยชน์ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน ว่า "เห็นด้วยครับ ดีกว่าปล่อยให้อยู่ใต้ดินควบคุมไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชน และภาครัฐ ตรวจสอบและควบคุมได้ ทั้งอุปกรณ์และน้ำยา และได้ภาษีเพิ่ม"
เป็นการตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องของผู้บริโภคที่สนับสนุนการยกเลิกการแบนเพื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ลดปัญหาธุรกิจใต้ดินเช่นเดียวกับปัญหาการพนันและธุรกิจใต้ดินอื่นๆ ที่เป็นช่องทางทุจริตคอรัปชั่นในขณะนี้