ราชกิจจานุเบกษา กำหนดระดับสถานการณ์โควิด-19 เช็กรายจังหวัด 5 พื้นที่พร้อมมาตรการควบคุม
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ กำหนดระดับของพื้นที่สถานการณ์ โควิด-19 เช็กรายจังหวัด 5 พื้นที่ พร้อมมาตรการควบคุม
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ 2/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ความว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นคราวที่ 9 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหำดไทย
จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนด ฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
สั่ง ณ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
อ่านข่าว - โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ นักธุรกิจ - มาดามแป้ง - ตูน บอดี้สแลม รวม 12,868 ราย
วันเดียวกัน เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 18) ทั้งนี้ ให้พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 17) ลงวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 เพื่อให้การสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด ขณะที่ ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่ต้องบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564 เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้เฉพาะตามข้อกำหนดนี้