กรมควบคุมโรค "พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์" เตือนโรคอาหารเป็นพิษ
กรมควบคุมโรค เผยแพร่ "พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์"เตือนโรคอาหารเป็นพิษ
“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจำนวน 87,093 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนจำนวน 2 เหตุการณ์ ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ในฑัณฑสถานหญิง พบผู้ป่วยจำนวน 84 ราย อาหารสงสัยที่เป็นสาเหตุของการระบาด ได้แก่ ปลาโอ และที่จังหวัดน่าน อยู่ในโรงเรียน พบผู้ป่วยจำนวน 200 ราย อาหารที่สงสัยคืออาหารกลางวันที่โรงเรียน ได้แก่ ข้าวมันไก่ น้ำจิ้มเต้าเจี้ยว และแตงโม”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ในบางพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งประชาชนอาจมีการรับประทานอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุกก่อนรับประทาน และทิ้งไว้นอกตู้เย็นเป็นเวลานาน หรือทิ้งค้างไว้ข้ามวันโดยไม่ได้อุ่นร้อน ประกอบกับพฤติกรรมการทำอาหารและรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด”
โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาด ไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์หรือพืชที่มีพิษ เลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดและมีคุณภาพ ควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว เมื่อรับประทานร่วมกัน เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับผู้ประกอบอาหารต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและปรุงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก สวมหมวกคลุมผม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคไปสู่อาหาร โดยอาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ อาจมีไข้ร่วมด้วย ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่ายกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
ที่มา..สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค