"สมุทรสาคร"สั่งเปิด"ตลาดกลางกุ้ง"จัดระบบสาธารณสุข ภายใต้กฎเหล็ก3ข้อ ส่วนค้าขายรอลุ้นอีก7วัน
"สมุทรสาคร"สั่งเปิด "ตลาดกลางกุ้ง"จัดระบบสาธารณสุข ภายใต้กฎเหล็ก 3 ข้อ ส่วนค้าขายรอลุ้นอีก 7 วันข้างหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ถูกสั่งปิดมานานตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 จนกระทั่งถึงวันที่ 31 มกราคม 2564 เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 จากการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อ จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร ก็มีมติเห็นชอบให้อออกคำสั่งฉบับที่ 43 เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บริเวณตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร โดยที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า ขณะนี้พื้นที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการคัดแยกผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ออกจากพื้นที่แล้ว และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูง อีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาครและอาคารหรืออาคารที่พักอาศัย มีลักษณะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตามหลักสุขาภิบาล จึงต้องให้มีการปรับปรุงสภาพพื้นที่และที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งหากให้ดำเนินการการซื้อ การขาย การค้า และการทำการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปกุ้ง และสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ ในขณะนี้อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคขึ้นอีก ดังนั้นจึงมีคำสั่งโดยสรุปได้ว่า
1.ห้ามเปิดดำเนินกิจการใด ๆ โดยให้หยุดการซื้อ การขาย การค้า และการทำการใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการแปรรูปกุ้งและสัตว์น้ำประเภทอื่นในพื้นที่ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ,
2.ให้ปรับปรุงอาคารหรืออาคารที่พักอาศัยในตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และ กำหนดจำนวนผู้พักอาศัยให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ และจำนวนห้องพัก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซ้ำอีก และ
3.เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้ว ให้เสนอแนวทางปรับปรุงตลาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครพิจารณา และเมื่อดำเนินการปรับปรุงตามที่เสนอเสร็จ จึงสามารถดำเนินการ กิจการซื้อขาย คัดแยก แปรรูปกุ้งและสัตว์น้ำประเภทอื่นได้ หรือเปิดดำเนินการในอาคารหรืออาคารที่พักอาศัยได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง มีโทษตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ขณะที่บรรยากาศภายในตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากที่เมื่อวานนี้แรงงานข้ามชาติภายในตลาดกลางกุ้งฯ ได้ร่วมกับทางเทศบาลนครสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำการกวาดล้างฉีดน้ำยาคลอรีนเข้มข้นไปแล้วนั้น ในเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. ก็พบว่า แรงงานข้ามชาติยังคงใช้ชีวิตอยู่ภายในตามปกติ ยังไม่มีการออกมาเคลื่อนย้ายสิ่งของแต่อย่างใด เหตุเพราะต้องรอให้เจ้าของแพ หรือนายจ้าง เข้ามาในพื้นที่ก่อน หลังจากนั้นจึงจะลงมือช่วยกันปรับพื้นที่แพที่ตนเองเป็นลูกจ้างอยู่ ให้เป็นไปตามคำสั่งของจังหวัดสมุทรสาคร
นายกิตติ เรืองวิไลพร พยาบาลวิชาชีพ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสมุทรสาคร กล่าวว่า ตามที่ได้อ่านคำสั่งของจังหวัดสมุทรสาครนั้น ก็จะเป็นเรื่องของการเปิดตลาดกลางกุ้งเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาปรับพื้นที่ให้เป็นไปตามระบบของสาธารณสุข แต่ยังไม่ให้ค้าขาย ซึ่งจะค้าขายได้เมื่อไหร่ ก็คงต้องรอการประเมินให้ผ่านก่อน ส่วนโรงพยาบาลสนามจะรื้อถอนหรือไม่ และรื้อถอนเมื่อไหร่ ขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ต้องรอการพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง
ด้านนายจตุพล มลมาลา เจ้าของแพต้นอ้อ ผู้รับซื้อกุ้งรายใหญ่ในตลาดกลางกุ้ง เพื่อส่งออกประเทศจีน ลาว และ มาเลเซีย รวมถึงแม่ค้าภายในประเทศด้วยนั้น ก็บอกว่า มีแผนที่จะเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ทั้งทาสีใหม่ และให้ลูกน้องมาช่วยทำความสะอาดในทุกแพ ส่วนมาตรการทางจังหวัดที่แนะนำมา คือให้จัดรูปแบบใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ประตูทางเข้า ฉากกั้นระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในแต่ละแพ ตลอดจนการปรับปรุงอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่สาธารณสุขและจังหวัดสมุทรสาครกำหนดไว้ ซึ่งในส่วนตัวมองว่า มาตรการที่ออกมานั้นทั้งเรื่องของการฉีดพ่นยาให้กับรถที่เข้าออก , การตรวจวัดอุณหภูมิผู้ที่เข้ามาซื้อขายภายใน , การทำฉากกั้นให้ผู้ที่มารอซื้อของหรือรอรับเงิน, การยกพื้นที่สูงขึ้นเพื่อวางสัตว์น้ำ, การกวาดล้างทำความสะอาดพื้นที่ขายของและบริเวณโดยรอบ ,มาตรการเว้นระยะห่างทั้งการเปียของ และการลงกุ้ง รวมถึงมาตรการลดจำนวนคนไม่ให้เกิดการแออัด เป็นต้น เจ้าของแพทุกคนต้องรวมมือกัน เพื่อทำให้การค้าของตลาดกลางกุ้งกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งขณะนี้ก็พบว่าทุกแพให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี เพราะทุกคนอยากจะเปิดแพให้ได้เร็วที่สุด แต่ก็อยากจะบอกทุกแพว่า ยังไม่ต้องรีบร้อนมาก พวกเราต้องทำให้ผ่านมาตรฐานของสาธารณสุข แล้วให้ทางสาธารณสุขเข้ามาประเมิน หากเราร่วมกันทำได้ ทำให้ผ่านการประเมินแล้ว ทุกจังหวัดจะเกิดความเชื่อมั่นและยอมรับตลาดกลางกุ้งว่าไม่มีปัญหาโควิดอีกแล้ว เพราะมีการซื้อขายรูปแบบใหม่ ภายใต้มาตรการที่ปลอดภัยต่อผู้ซื้อและผู้ขาย
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า ตามที่ ศบค.ได้เห็นชอบให้มีการผ่อนคลายมาตรการโควิด 19 นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้เป็นต้นไป แต่ยังคงให้จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น
ในส่วนของตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ตามที่ได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดสมุทรสาคร ก็เห็นชอบให้เปิดตลาดกลางกุ้งได้นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เช่นเดียวกัน แต่จะเป็นการอนุญาตให้เปิดได้เฉพาะเพื่อดำเนินการปรับปรุงตลาดให้มีความสะอาด มีการปรับปรุงรั้วทาสีใหม่ จัดระเบียบภายใน รวมถึงมาตรการต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักสาธารณสุขเท่านั้น จะยังไม่อนุญาตให้ขายของ จนกว่าจะมีความพร้อมและทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้ จึงจะสามารถดำเนินการขายของได้ ส่วนระยะเวลาดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างทางจังหวัดสมุทรสาคร กับแพต่างๆ ในตลาดกลางกุ้งที่มีอยู่ราวๆ 50 แพ ที่ได้ตกลงในเรื่องของการปรับปรุงทำความสะอาด และปรับปรุงสถานที่ โดยทางเจ้าของแพได้เสนอมาว่า น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นก็จะให้ทางเจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปประเมินว่า สามารถที่จะเปิดได้หรือไม่ ซึ่งถ้าระยะเวลา 1 สัปดาห์นี้ ภายในตลาดกลางกุ้งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดร่วมกัน แล้วผลการประเมินเป็นไปตามหลักสาธารณสุข ก็จะเปิดขายได้นับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป แต่ถ้ายังมีบางส่วนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขก็จะต้องช่วยกันดำเนินการต่อไปให้เรียบร้อย จนกว่าจะผ่านการประเมิน จึงจะสามารถกลับมาค้าขายได้ตามปรกติ.
ข่าวโดย..จำรัส โกยอารี/สมุทรสาคร