เปิดที่มาประเพณีไหว้พระธาตุ "วันหยุดภาคเหนือ" เช็กเลย ครั้งต่อไปถึงคิวภาคไหน
เปิดที่มาประเพณีไหว้พระธาตุ "วันหยุดภาคเหนือ" ถือเป็นวันหยุดราชการวันแรกที่เพิ่มเข้ามาในปี 2564 เช็กเลย ครั้งต่อไปถึงคิวภาคไหน
26 มีนาคม 2564 นับเป็นครั้งแรก ของการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งวันนี้เป็นวันหยุดภาคเหนือ โดยรัฐบาลกำหนดให้เป็นวันประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี ถือเป็นวันหยุดราชการวันแรกที่เพิ่มเข้ามาในปี 2564
โดยกำหนดวันหยุดภาคเหนือ ให้เป็นวันหยุดงานของหน่วยราชการเป็นหลัก ส่วนภาคเอกชนให้ผู้ประกอบการแต่ละแห่งพิจารณาประกาศเป็นวันหยุดหรือไม่เอง
ซึ่งพื้นที่ที่ได้สิทธิเป็นวันหยุดภาคเหนือ ก็จะประกอบด้วย 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี
สำหรับประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี หรือ ประเพณีขึ้นธาตุของทางภาคเหนือ ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้เขียนระบุเอาไว้ว่า ชาวภาคเหนือมีความผูกพันต่อศาสนามากทุกอย่างมีวัดเป็นศูนย์กลางตั้งแต่เกิดจนตาย วัดถือเป็นศูนย์ให้การศึกษาแก่กุลบุตร ทั้งทางหนังสือและวิชาชีพเพื่อจะได้ใช้วิถีชีวิตของตนให้เกิดความสมบูรณ์ทางความเป็นอยู่ทางสังคม ประเพณีที่ปฏิบัติในเดือน 8 นี้ จึงเกี่ยวเนื่องกับศาสนาเป็นส่วนใหญ่
โดยวันเพ็ญเดือน 8 เหนือ (ช่วงเดือนพฤษภาคม) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาตรงกับวันประสูติตรัสรู้และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่ชาวพุทธทั้งโลกทำพิธีรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์โดยการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และรักษาศีล ฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมกันทั่วไป
นอกจากประเพณีการไปไหว้พระธาตุที่สำคัญๆ แล้วคนโบราณของภาคเหนือสร้างค่านิยมให้บังเกิดกับประชาชนด้วยการให้ประชาชน สักการบูชา "ชุธาตุ" คือถือเอาพระธาตุเจดีย์ที่กล่าวถึงนี้ ก็คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพรพุทธเจ้าที่ได้ฐาปนาไว้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุลำปางหลวง ฯลฯ ซึ่งตามประเพณีชาวเหนือ ถือวันว่า คนใดเกิดปีใดจะต้องไปสักการบูชาพระธาตุที่นั้นจึงเป็นศิริมงคลแก่ตนให้มีอายุยืนให้บุญอานิสงส์ ดังต่อไปนี้
1.ผู้ที่เกิดปีไจ้ คือปีชวด พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
2.ผู้ที่เกิดปีเป้า คือปีฉลู พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
3.ผู้ที่เกิดปียี่ คือปีขาล พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
4.ผู้ที่เกิดปีเหม้า คือปีเถาะ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
5.ผู้ที่เกิดปีสี คือปีมะโรง พระธาตุประจำปีเกิดคือ เจดีย์พระสิงห์ วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
6.ผู้ที่เกิดปีไส้ คือปีมะเส็ง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธยาประเทศอินเดีย ชาวบ้านเดินทางไปไม่ถึง ให้ไหว้ต้นโพธิ์แทน
7.ผู้ที่เกิดปีสะง้า คือปีมะเมีย พระธาตุประจำปีเกิด พระธาตุย่างกุ้ง หรือชะเวดากองประเทศพม่า
8.ผู้ที่เกิดปีเม็ด คือปีมะแม พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
9.ผู้ที่เกิดปีสัน คือปีวอก พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
10.ผู้ที่เกิดปีเล้า คือปีระกา พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
11.ผู้ที่เกิดปีเส็ด คือปีจอ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถ้าจะไหว้พระธาตุประจำปีเกิด ให้ปล่อยคมและสักการะด้วยดอกไม้ ธูปเทียน
12.ผู้ที่เกิดปีหมู คือปีกุล พระธาตุดอยตุง จากหวัดเชียงราย
หากผู้ใดเกิดปีไหนแล้วควรไปนมัสการพระธาตุนั้นๆได้อานิสงส์มาก สำหรับผู้ใดที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุประจำปีเกิดของตนเดินทางไปไม่ถึง ก็ให้ไปกราบไหว้เอาเองหรือไปขอที่วาดรูป วาดใส่แผ่นผ้าหรือแผ่นกระดาษนำไปสักการะบูชาได้
ขณะเดียวกันในวันหยุดประจำภาคครั้งต่อไป จะถึงคิวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานบ้าง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นั่นก็คือประเพณีงานบุญบั้งไฟนั่นเอง จากนั้น วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ก็จะเป็นวันหยุดภาคใต้ซึ่งก็คือ ประเพณีสารทเดือนสิบและวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ก็เป็นวันหยุดประจำภาคกลาง คือ เทศกาลวันออกพรรษา
อ่านข่าว : เปิดเกณฑ์วันหยุดประจำภาคปี 2564 เช็กเลยจังหวัดใดหยุดวันไหนกันบ้าง