สมาคมโรคติดเชื้อชี้แจงความเห็นกรณีให้ยา ฟาวิพิราเวียร์ ผู้ป่วย โควิด-19 สีเขียว
สมาคมโรคติดเชื้อ แจงความเห็นกรณีเป็นข่าว แพทย์เชี่ยวชาญเห็นชอบ กทม. ใช้ ฟาวิพิราเวียร์ รักษา โควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งอาจจะนํามาซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กําธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ลงนาม คําชี้แจงเรื่อง การให้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ระบุ ตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนทั่วไปว่า “แพทย์เชี่ยวชาญเห็นชอบ กทม.ใช้ฟาวิพิราเวียร์ รักษาโควิดในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว” และปรากฏภาพกรรมการบริหารสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยในข่าวทาง สื่อมวลชนบางแห่ง ซึ่งอาจจะนํามาซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้น
ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย โดยนายกสมาคมฯ และผู้แทนกรรมการบริหารสมาคมฯ อีก 1 ท่าน ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยตลอด ขอชี้แจงความเห็นของสมาคมโรคติดเชื้อ ดังนี้
1. ผู้ป่วยจํานวนหลักพันคน นับตั้งแต่มีการระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ได้รับ การรักษาในโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์หลายแห่ง โดยกลุ่มที่ไม่มีอาการ และไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ไม่ได้รับยาต้านไวรัสใดๆ นอกจากยาตามอาการ ก็หายเป็นปกติได้
2. มีการศึกษาวิจัยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศญี่ปุ่น โดยให้ยาผู้ป่วยที่อาการน้อยหรือไม่มี อาการ ตั้งแต่วันแรกที่มาโรงพยาบาล เทียบกับรอไป 6 วัน แล้วจึงให้ยา ปรากฏว่า ทั้งสองกลุ่ม ไม่มีผู้ป่วยที่เป็นมากขึ้น จนมีภาวะปอดอักเสบ และผู้ป่วยหายได้ทุกราย
3. การรักษาตามอาการ สําหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ เป็นไปตามแนวทางการรักษา ผู้ป่วย โควิด-19 ที่จัดทําขึ้นโดยกรมการแพทย์ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจจากหลายสถาบัน และแนวทางดังกล่าว มีการปรับปรุงมาเป็นระยะตามข้อมูลทางวิชาการที่มีมากขึ้น ในแนวทางการรักษาฯ ฉบับปัจจุบัน จะแนะนําให้ ให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ กับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหากมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น สูงอายุ อ้วน มีโรคประจําตัว เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์จัดเป็นผู้ป่วยสีเหลือง
4. ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เข้าใจและรู้สึกขอบคุณในความปรารถนาดีของหลายฝ่าย ที่ต้องการให้ยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด และมีความเห็นว่า ไม่มีความจําเป็นที่จะให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย และไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น (ผู้ป่วยสีเขียว) การให้ยาโดยไม่มีความจําเป็นจะเป็นแรงกดดันให้เชื้อดื้อต่อยาได้ง่ายขึ้นในอนาคตและอาจจะเป็นปัญหาในการรักษาตามมา ในขณะนี้ ควรจะสงวนยานี้ไว้สําหรับผู้ป่วยที่น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางการรักษาผู้ป่วย โควิด-19 หากมีกระบวนการที่จะวินิจฉัย และจัดกลุ่มผู้ป่วยที่ฉับไว รวมทั้งการบริหารจัดการที่คล่องตัวเพื่อให้ผู้ป่วยที่จําเป็นต้องได้ยา ให้ได้ยาตามเวลาที่เหมาะสม ก็จะเกิดความปลอดภัย และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จําเป็นต้องให้ยาแก่ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวแต่อย่างใด