หมอยง อธิบายแบบชัดๆ วัคซีนโควิด-19 กับอาการไม่พึงประสงค์
หมอยง ไขข้อสงสัย วัคซีนโควิด-19 กับอาการไม่พึงประสงค์ ต้องแยกจากอาการข้างเคียง ชี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้ว 3.8 ล้านโดส
วันที่ 4 มิ.ย. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก "Yong Poovorawan" ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 ไปแล้วไม่น้อยกว่า 2 พันล้านโดส ไม่เคยมีวัคซีนใดที่ฉีดได้รวดเร็วและมากเท่านี้
อ่านข่าว "หมอยง" ตอบชัด คนที่หายป่วยจากโควิดแล้วจำเป็นต้องฉีดวัคซีนหรือไม่
อาการไม่พึงประสงค์ ต้องแยกจากอาการข้างเคียง
"อาการไม่พึงประสงค์" เกิดขึ้นหลังการให้วัคซีน เป็นเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นหลังการให้วัคซีนใน 2 สัปดาห์ เราจะรวบรวมเป็นอาการไม่พึงประสงค์ แล้วสรุปว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เป็นความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน น่าจะเกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยการช่วยวิเคราะห์อย่างละเอียด
อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตใน 2 วันต่อมา ก็ถือว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรง แต่เมื่อไปศึกษารายละเอียด พบว่าการเสียชีวิตถูกยิงตาย ก็ต้องศึกษาต่อไปอีกว่า วัคซีนมีผลทำให้พฤติกรรมก้าวร้าว หรือไม่ ถ้าก้าวร้าวแล้วถูกยิงตาย วัคซีนก็อาจจะเป็นสาเหตุได้
หมอยง ระบุต่อว่า ผมอยู่ในการศึกษาวัคซีนมามาก แม้กระทั่งฉีดวัคซีนไปแล้ว เดินออกจากโรงพยาบาล เดินตกท่อ ก็ยังต้องหาสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เพราะวัคซีนอาจทำให้เวียนศีรษะแล้วเดินตกท่อก็ได้ แต่ถ้าไปเดินสะดุดแล้วตกท่อก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุ
ในขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปถึง 3.8 ล้านโดส ถ้าเฝ้าระวังอาการ เอาแค่ 7 วันก็พอ ก็เท่ากับ ไม่น้อยกว่า 25 ล้านวัน ชีวิตคน หรือเท่ากับ 65 หมื่นปี หรือเรียกง่ายๆคนเรามีอายุ 80 ปี ก็อย่างน้อย 800 คนที่เมื่อนับรวมวันกัน ตั้งแต่เกิดจนตายก็จะเท่ากับ 25 ล้านวัน ฟังดูแล้วเข้าใจยากไปหน่อย ถ้าพูดง่ายๆชีวิต 25 ล้านวัน เท่ากับชีวิตของคน 800 คน ที่มีอายุอยู่ถึง 80 ปี เมื่อวันเวลาดังกล่าวดังที่ยกตัวอย่างก็ต้องมีการเสียชีวิต ตามโลกแห่งความเป็นจริง แต่การให้วัคซีนส่วนใหญ่แล้วให้กับคนแข็งแรง เหตุการณ์จึงไม่ได้เกิดถึงขนาดนั้น
ดังนั้นเมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะอาการใหม่ จะต้องมีการรายงานว่าโรคนั้นเกี่ยวข้องกับหรือเป็นอาการข้างเคียงกับวัคซีนหรือไม่ เช่น การให้วัคซีนไวรัส Vector เกิดการมีลิ่มเลือดและมีเกล็ดเลือดต่ำ (คนละโรคกับเส้นเลือดดำอุดตัน) โรคนี้ก็พบได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับอุบัติการณ์ของคนปกติที่พบในชีวิตจริง แล้วพบว่าเกิดจากวัคซีนได้มากกว่า ก็เป็นที่ยอมรับว่า การเกิดลิ่มเลือดชนิดที่มีเกล็ดเลือดต่ำ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนชนิด virus Vector แต่อุบัติการณ์จะเกิดในคนอายุน้อย และมีอุบัติการณ์ทั้งสิ้นประมาณ 1 ในแสน เมื่อเทียบประโยชน์แล้วมีมากกว่าก็เดินหน้าให้วัคซีน และโรคดังกล่าวก็รักษาได้ ถ้ารู้เร็ว
เช่นเดียวกันการฉีดวัคซีน mRNA เช่น ของ Pfizer ขณะนี้มีรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในคนอายุน้อย ข้อมูลนี้กำลังเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในอเมริกาและอิสราเอลเริ่มให้ความสำคัญ ก็จะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่า อุบัติการณ์ในการฉีดวัคซีนในคนอายุน้อยของ Pfizer มีโอกาสเกิดมากกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด แล้วเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเท่าใด จะต้องคำนึงถึงผลได้ของวัคซีนเปรียบเทียบกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และผลระยะยาวของหัวใจ
หมอยง ระบุเพิ่มเติมอีกว่า วัคซีนที่ใช้อยู่ขณะนี้เป็นวัคซีนใหม่ จึงจำเป็นต้องบันทึกอาการไม่พึงประสงค์ลงอย่างละเอียด และจำเป็นต้องใช้นักวิชาการมาวิเคราะห์ และคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้ กลับผลเสียที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีน เราจำเป็นจะต้องใช้ทั้งเหตุและผล เข้ามาร่วมการตัดสินใจ
ข่าวในเชิงลบจะออกมาเร็วและผู้คนสนใจ แต่เมื่อความจริงปรากฏว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็มักจะไม่เป็นข่าวออกมาเลย เช่น ในรายการเสียชีวิตจะเป็นข่าวอย่างรวดเร็ว แต่ผลของการสอบสวนต้องใช้เวลา และเมื่อผลสอบสวนออกมาแล้ว ก็มักจะไม่ได้เป็นข่าวแล้ว