"หมอยง" ตอบข้อสงสัย ทำไมวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เข็ม 2 ถึงเว้นช่วงนาน
"หมอยง" ตอบข้อสงสัย ทำไมวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เข็มที่ 2 ถึงกำหนดระยะห่างจากเดิม 10 สัปดาห์ เป็น 16 สัปดาห์
วันที่ 9 มิ.ย. 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า หลายคนมีข้อสงสัยในการกำหนดระยะห่างของการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ทำไมประเทศไทยขณะนี้จึงกำหนดระยะห่าง จากเดิม 10 สัปดาห์ เป็น 16 สัปดาห์
จากการศึกษาในการวิจัยทางคลินิก เดิมระยะห่างการให้วัคซีน AZ อยู่ที่ 4 สัปดาห์ เมื่อทำการศึกษาระยะที่ 3 ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกันมากกว่า 6 สัปดาห์ ถึง 12 สัปดาห์ ได้ผลภูมิต้านทาน และประสิทธิภาพดีกว่าผู้ที่ได้รับห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์
หมอยง ระบุต่อว่า ในการใช้จริงที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงที่มีโรคระบาดมากและวัคซีนไม่เพียงพอ อังกฤษจึงยืดระยะห่างของการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปอีกถึง 16 สัปดาห์ เพื่อให้ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มแรกให้มากที่สุด ไม่ต้องใช้แรงงาน มาพะวงกับการฉีดเข็มที่ 2 จะได้ปูพรมเข็มแรกได้กว้างที่สุดเพื่อระงับการระบาด
ผลการศึกษาในสกอตแลนด์ พบว่าการให้ AZ เพียงเข็มเดียว มีประสิทธิภาพถึง 80% การให้เข็มที่ 2 จะเพิ่มประสิทธิภาพเป็น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ เห็นว่าเข็ม 2 เพิ่มประสิทธิภาพก็จริง ถ้าเปรียบเทียบกับการปูพรมเข็มแรกให้มากที่สุดแล้ว ค่อยเติมเข็ม 2 น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ในการควบคุมการระบาดของโรค โดยหลักของวัคซีน "การทิ้งระยะห่าง" ยิ่งห่างนานก็จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีกว่า ระดับภูมิต้านทานหลังเข็ม 2 จะสูงกว่า ในการหวังผลให้อยู่นาน
การยืดเข็ม 2 ออกไป จะมีข้อเสียตรงที่ว่าประสิทธิภาพจะสู้การให้ 2 เข็มไม่ได้ ต้องคำนึงคือถ้ามีเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) วัคซีนทั่วไป ประสิทธิภาพลดลงอยู่แล้ว ก็อาจจะป้องกันไม่ได้ แต่สายพันธุ์อังกฤษและอินเดีย ไม่น่าจะมีผลมาก
ดังนั้น ประเทศไทยอยู่ในช่วงการระบาดขาขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ในการควบคุมโรคให้เร็วที่สุด จำเป็นที่จะต้องให้ AZ วัคซีนปูพรมในแนวกว้างให้มากที่สุดก่อน โดยต้องระดมทรัพยากรทั้งหมดรวมทั้งวัคซีน มาใช้ในการให้วัคซีนเข็มแรก ภายใน 16 สัปดาห์ ประชากรส่วนใหญ่ทั้งประเทศก็จะได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้วค่อยไปเติมเข็มที่ 2 ภูมิจะสูงขึ้นและอยู่นาน
สิ่งสำคัญในระหว่างนี้จะต้องเฝ้าระหว่างสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่อาจจะสร้างปัญหาในระดับที่ภูมิต้านทานยังไม่สูงมากเกิดขึ้นได้ สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียไม่น่าจะมีปัญหา การควบคุมการระบาดในประชากรหมู่มาก ทั้งประเทศไทย ในภาวะที่ทรัพยากรที่จำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ดังนั้นการกำหนดระยะห่างไปที่ 16 สัปดาห์ จึงเป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยในภาพรวม
อ่านข่าว "หมอมนูญ" ชี้ "สายพันธุ์อัลฟา" ติดง่ายมาก แถมเล่นงานปอดหนักกว่าเดิม