อย่าประมาท "หมอธีระ" ชี้ปลายปีน่าห่วง โควิดระลอก 4 มาแน่ จากปัจจัยหนุนท่องเที่ยว
"หมอธีระ" ชี้ไทยมีโอกาสเกิดการระบาดระลอก 4 ในช่วงปลายปี จากปัจจัยเปิดประเทศหนุนการท่องเที่ยว
วันนี้ 22 มิ.ย. 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยห่วงว่าจะเกิดการระบาดระลอก 4 ช่วงปลายปีนี้ ว่า
สถานการณ์ทั่วโลก 22 มิถุนายน 2564 อินโดนีเซียมียอดรวมทะลุสองล้านไปแล้ว พรุ่งนี้อินเดียจะเกิน 30 ล้าน
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 272,712 คน รวมแล้วตอนนี้ 179,530,569 คน ตายเพิ่มอีก 5,645 คน ยอดตายรวม 3,888,060 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย รัสเซีย และอินโดนีเซีย อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 8,356 คน รวม 34,418,656 คน ตายเพิ่ม 189 คน ยอดเสียชีวิตรวม 617,436 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 39,096 คน รวม 29,973,457 คน ตายเพิ่ม 846 คน ยอดเสียชีวิตรวม 389,268 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 41,878 คน รวม 17,969,806 คน ตายเพิ่มถึง 899 คน ยอดเสียชีวิตรวม 502,817 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 487 คน ยอดรวม 5,757,798 คน ตายเพิ่ม 40 คน ยอดเสียชีวิตรวม 110,778 คน อัตราตาย 1.9%
ตุรกี ติดเพิ่ม 5,294 คน รวม 5,375,593 คน ตายเพิ่ม 51 คน ยอดเสียชีวิตรวม 49,236 คน อัตราตาย 0.9%
อันดับ 6-10 เป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า อิตาลี และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพัน
อินโดนีเซียล่าสุดติดเพิ่มถึงกว่า 14,536 คน สูงกว่าระลอกก่อนหน้านี้ช่วงมกราคมแล้ว แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นมองโกเลียที่ยังหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน หลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น อิรัก คิวบา คูเวต อัฟกานิสถาน โอมาน ส่วนอิหร่านตอนนี้เกินหมื่นมานิดหน่อย เกาหลีใต้ เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ลาว ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
ยอดติดเชื้อใหม่ของทั่วโลกต่ำกว่าสามแสน เทียบได้กับช่วงกันยายนปีที่แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดี โดยการติดเชื้อใหม่นั้นส่วนใหญ่ (81%) มาจากทวีปเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกา
หมอธีระ ระบุอีกว่า ที่น่ากังวลคือ ถ้าเทียบในสามทวีปดังกล่าว การติดเชื้อใหม่นี้ 53% มาจากทวีปเอเชีย ส่วนอเมริกาใต้นั้นเพียง 37% และแอฟริการาว 10%
จำนวนการติดเชื้อใหม่ของไทยเรานั้น ช่วงนี้ติด Top 20 ของโลกมาตลอด เมื่อวานนี้อันดับ 17 แต่หากเทียบเฉพาะในเอเชีย เราอยู่อันดับ 9 เลยทีเดียว จะเป็นรองก็เพียงอินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ตุรกี ฟิลิปปินส์ อิรัก บังคลาเทศ และมาเลเซีย
ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่เรามีตอนนี้คือ มาตรการที่ทำไม่เพียงพอในการควบคุมการระบาดได้, ศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรคมีจำกัด, อาวุธป้องกันที่เลือกใช้นั้นมีข้อจำกัดทั้งในเชิงปริมาณและประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์กลายพันธุ์, และสำคัญที่สุดคือ การที่กำลังจะเปิดประเทศ
สิ่งที่คาดการณ์จากบทเรียนที่เห็นในประเทศอื่นคือ การที่จำนวนติดเชื้อหลายพันต่อวันมาตลอด โอกาสปะทุซ้ำรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ราวทุก 4-6 สัปดาห์ ช่วงที่ต้องระวังคงเป็นต้นถึงกลางเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้ไตรมาสสุดท้ายของปี จะมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดระลอก 4 จากปัจจัยหนุนเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ที่จะทำให้การระบาดของโรคที่กระจายไปทั่ว แฝงในชุมชนอยู่แล้ว จะมีการแพร่เชื้อติดเชื้อได้มากขึ้น เพราะพบปะกัน ค้าขายและบริการมากขึ้น
หากไม่เคร่งครัดในการป้องกัน มีโอกาสที่เราจะติด Top 10 ของโลก หรือ Top 5 ของเอเชียได้ ดังนั้นต้องไม่ประมาท
หมอธีระ ระบุเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญสำหรับพวกเราทุกคนคือ ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไปยาวๆ ตามวิถีชีวิตที่พึงปฏิบัติที่ได้บอกไปเมื่อวานนี้ "ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า"