โค้งสุดท้าย ยื่นภาษีออนไลน์ เดดไลน์สิ้นเดือนนี้
อย่านิ่งนอนใจ ใครที่ยังไม่ได้ยื่นเสียภาษี ภ.ง.ด.90 และ.91 ทางออนไลน์ หมดเขตสิ้นเดือน มิ.ย.นี้แล้ว
เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน สำหรับใครที่ยังไม่ได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2563 (แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91) ที่จากเดิมต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 แต่ได้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะแบบที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
หลังจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แจ้งไว้ตั้งแต่ช่วงปลายมกราคม 2564 ว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการขยายเวลาการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต ถึงมิถุนายน 2564 เพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่า 10.3 ล้านราย ที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 และผู้ประกอบการที่ยื่นแบบฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกว่า 5.1 แสนราย ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจกว่า 265,700 ล้านบาท
“การขยายเวลายื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ต เป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้านหรือ Tax From Home ช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจาก COVID – 19 ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือประชาชนและผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น โดยไม่ได้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระภาษีที่เลื่อนออกไป”
นอกจากนี้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า การขยายเวลาการยื่นแบบฯ ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการดังกล่าว เพื่อดูแลและเยียวยาการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยการขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชนในระบบ ประมาณ 10,600 ล้านบาท และการขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการประมาณ 255,100 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดของการขยายเวลายื่นแบบฯ ดังต่อไปนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2563 (แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91) ที่ต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะแบบที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด. 1 แบบ ภ.ง.ด. 2 แบบ ภ.ง.ด. 3 แบบ ภ.ง.ด. 53 และ แบบ ภ.ง.ด. 54) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงเดือน มิถุนายน 2564 เฉพาะแบบฯ ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 30 แบบ ภ.พ. 36) ขยายเวลาการยื่นแบบฯ ถึงวันสุดท้ายของเดือนที่ต้องยื่นแบบฯ โดยให้เริ่มขยายเวลาสำหรับการยื่นแบบฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ถึงเดือน มิถุนายน2564 เฉพาะแบบฯ ที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต”
สำหรับการคิดค่าลดหย่อน ที่สามารถนำมาคำนวณในกรณีต่างๆ มีดังนี้ 1. ผู้มีเงินได้ จะได้ลดหย่อน ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 60,000 บาท หรือ 120,000 บาท แล้วแต่กรณี 2. คู่สมรส กรณีสามีหรือภรรยาไม่มีเงินได้ สามารถคิดลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท (เช่น ภริยาหักลดหย่อนฐานะผู้มีเงินได้ 30,000 บาท และหักลดหย่อนสามีได้อีก 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท และในการยื่นแบบให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีเงินได้)
3. บุตร คนละ 30,000 บาท บุตรที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท 4. ค่าอุปการะบิดาหรือมารดาของตนเองหรือคู่สมรส มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ลดหย่อนภาษีได้ คนละ 30,000 บาท 5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้พิการหรือทุพพลภาพ ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาทต่อคน ยกมาจากแบบ ล.ย.04 6. เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดาหรือคู่สมรส ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
7. เบี้ยประกันชีวิต, เบี้ยประกันสุขภาพ, เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ของตนเอง รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท 8. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท 9. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท 10. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 11. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF
12. ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม SSF (พิเศษ) 13. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน ไม่เกิน 100,000 บาท 14. เงินได้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ( ลดหย่อนตามมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ) 15. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 16.ค่าซื้อและติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น)
17. ค่าธรรมเนียมการรับชำระด้วยบัตรเดบิต (เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) )18. ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร 19. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,00 บาท 20. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ช้อปดีมีคืน ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 63 ได้แก่ (1)ค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (2)หนังสือหรือ EBook (3) สินค้า OTOP