ข่าว

คลังกู้เงิน 30,000 ล้าน แก้ปัญหา "โควิด-19" เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

คลังกู้เงิน 30,000 ล้าน แก้ปัญหา "โควิด-19" เยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

26 มิ.ย. 2564

ประกาศกระทรวงการคลัง ผลการกู้เงินโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน พ.ร.ก. กู้เงิน "โควิด-19" ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 5

25 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ผลการกู้เงินโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 5 ความว่า เพื่อให้เป็นไปตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ประกอบมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 กระทรวงการคลังขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า

กระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตามมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ได้ดำเนินการกู้เงินโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) โดยมีสาระสำคัญและเงื่อนไขของการกู้เงิน ดังนี้

1. กระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยวิธีการออก PN อายุเงินกู้ 1 ปี 3 เดือน ให้กับสถาบันการเงิน เป็นจำนวนเงินรวม 30,000 ล้านบาท (สามหมื่นล้านบาทถ้วน)

2. เบิกเงินกู้ทั้งจำนวนในวันที่ 29 เมษายน 2564

3. อายุเงินกู้ 1 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2564 ครบกำหนดในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565

4. อัตราดอกเบี้ย

4.1 อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ลบส่วนต่างเฉลี่ยร้อยละ 0.01138 (ศูนย์จุดศูนย์หนึ่งหนึ่งสามแปด) ต่อปี

4.2 อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 6 เดือน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

 

4.3 การปรับอัตราดอกเบี้ยทุกงวด 6 เดือน หากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลง โดยอัตราดอกเบี้ยงวดแรกจะใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ณ วันเบิกเงินกู้ สำหรับการใช้อัตราดอกเบี้ยในงวดต่อๆ ไป จะใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ณ วันครบกำหนดชำระดอกเบี้ย เพื่อใช้คำนวณดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลา 6 เดือนถัดไป การคำนวณดอกเบี้ยให้ถือว่าหนึ่งปีมี 365 วัน นับตามจำนวนวันที่เกิดขึ้นจริง เศษของหนึ่งสตางค์ให้ปัดทิ้ง ชำระดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 และชำระดอกเบี้ยงวดสุดท้ายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565

5. การชำระดอกเบี้ย ตลอดเวลาที่สัญญายังมีอายุอยู่ให้แบ่งชำระดอกเบี้ยปีละสองงวด คือ วันที่ 29 มกราคม และ 29 กรกฎาคม ของทุกปี สำหรับดอกเบี้ยงวดสุดท้ายจะชำระพร้อมต้นเงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในวันที่ไถ่ถอน หากวันครบกำหนดชำระดอกเบี้ยตรงกับวันหยุดธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันทำการถัดไป โดยไม่นับวันหยุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเข้ารวมเพื่อคำนวณดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระ ยกเว้นการชำระต้นเงินกู้งวดสุดท้ายให้คำนวณดอกเบี้ยจนถึงวันก่อนวันชำระหนี้

6. การชำระคืนต้นเงินกู้ กระทรวงการคลังสามารถชำระคืนต้นเงินกู้ก่อนครบกำหนดได้ทั้งจำนวนหรือบางส่วนก็ได้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะแจ้งให้สถาบันการเงินทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 วันทำการ โดยกระทรวงการคลังจะชำระดอกเบี้ยคงค้างของต้นเงินกู้ที่ค้างชำระ พร้อมกับการชำระเงินคืนต้นเงินกู้ก่อนกำหนดนั้น ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคงค้างให้คำนวณนับตั้งแต่วันที่กระทรวงการคลังชำระคืนดอกเบี้ยครั้งล่าสุดจนถึงวันก่อนวันที่กระทรวงการคลังชำระคืนต้นเงินกู้ก่อนกำหนด โดยหากวันครบกำหนดชำระคืนต้นเงินกู้ตรงกับวันหยุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้เลื่อนไปชำระคืนในวันทำการถัดไป

7. ไม่มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆ

ประกาศ ณ วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

จำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวงการคลัง

หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ปฏิบัติราชการแทน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อ่านข่าว - อัปเดต 11 "สถานที่เสี่ยง" ชลบุรี ใครสัมผัส-เดินทางไป เช็กอาการ โควิด-19 ด่วน

โควิด-19, กู้เงิน, เยียวยา, ราชกิจจานุเบกษา, เงินกู้

โควิด-19, กู้เงิน, เยียวยา, ราชกิจจานุเบกษา, เงินกู้

CR : ราชกิจจานุเบกษา