น่าห่วง "เรียนออนไลน์" ยุคโควิด-19 แนะพ่อแม่หมั่นดูแลสายตาลูกเพิ่มขึ้น
กรมอนามัย ห่วง เรียนออนไลน์ - ออนแอร์ ยุคโควิด-19 แนะพ่อแม่หมั่นดูแลสายตาลูกเพิ่มขึ้น หากพบอาการผิดปกติให้ปรึกษาจักษุแพทย์
นายแพทย์ สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานศึกษาในหลายพื้นที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยให้โรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ดำเนินการจัดการเรียน การสอน เฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล แบบ ออนแอร์ (On Air) , ออนไลน์ (Online) , On Demand , On Hand ผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564 พบว่า โรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในภาพรวมทั้งประเทศ ได้ปรับรูปแบบจาก On Site มาเป็นการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (Online) ร้อยละ 20.8 ผ่านโทรทัศน์ (On Air) ร้อยละ 17.0
และสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้กำหนดให้เปลี่ยนการเรียน การสอนจาก On Site เป็นแบบ Online นั้น โดยมีการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าวถึงร้อยละ 80 ขณะที่อีก ร้อยละ 20 อาจจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนแบบ Online มีความแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนอย่างมาก พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูกมากขึ้น เพราะการเรียนผ่าน ออนไลน์ (Online) และ ออนแอร์ (On Air) จะใช้เวลาอยู่กับสื่อการเรียนการสอน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ระยะใกล้เป็นเวลานาน ๆ ต้องใช้สายตาในการเพ่งมองดูข้อมูลหน้าจอ อาจมีผลทำให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง ปวดตา บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือการมองไม่ชัดหลังเลิกเรียน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสายตาผิดปกติ สายตาสั้น หรือมีตาดำเขเข้าหรือเขออกเป็นครั้งคราว ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาวต่อไปในอนาคต
นายแพทย์ สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า วิธีการที่เหมาะสมในการใช้สายตาเรียน Online และ On Air นั้น ขอให้ปฏิบัติดังนี้
1) ระยะเวลาการใช้สายตาในการเรียน ออนแอร์ (On Air) และ ออนไลน์ (Online) เพ่งดูหน้าจอ ด้วยหลักการ 20 - 20 - 20 คือ ใช้สายตามองใกล้ติดต่อกันไม่เกิน 20 นาที โดยควรพักใช้สายตา 20 วินาที ด้วยการมองไปที่ระยะห่าง 20 ฟุต (6 เมตร) เพื่อเป็นการพักสายตา แล้วกลับมาใช้สายตาใหม่ได้
2) จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียน ไฟไม่มืดหรือสว่างเกินไป เพราะแสงเข้าตามากเกินอาจทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม จึงต้องปรับหน้าจอให้สว่างพอดี
3) แนะนำให้กระพริบตาบ่อย ๆ หลับตาพัก (นับ 1 - 5 แล้วลืมตาใหม่) เพราะการใช้สายตานาน ๆ อาจเกิดภาวะตาแห้ง เคืองตา กะพริบตาน้อย (ปกติคนเรากะพริบตา 10 - 12 ครั้งต่อนาที) ภาวะตาแห้งจะดีขึ้น รวมถึงตำแหน่งที่นั่ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมพัดมาก ลมแอร์ตกใส่ ระดับของโทรศัพท์มือถือไม่สูงเกินไป จะทำให้เปิดเปลือกตามากขึ้น ควรอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา ช่วยลดภาวะตาแห้ง (ข้อมูลราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่ง ประเทศไทย , 24 มิถุนายน 2564)
“นอกจากนี้ พ่อแม่ยังส่งเสริมการมีสายตาที่ดีให้กับเด็กได้ด้วยการเลือกผักผลไม้สีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม สีแดง เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ มะม่วงสุก มะละกอ สับปะรด แคนตาลูป เป็นต้น เนื่องจากสารแคโรทีนอยส์ในผักผลไม้ดังกล่าว ช่วยในเรื่องการมองเห็นในที่มืดได้ดี ลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดี และใช้ไข่ ตับ เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร ควรให้เด็กดื่มนมวันละ 2 แก้ว หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และไม่ควรใช้สายตาในที่มืด”
อ่านข่าว - "จุดตรวจโควิดฟรี" ในพื้นที่ กทม. วันนี้ - 31 ก.ค. เช็กเลย ครบจบที่นี่
CR : กระทรวงสาธารณสุข