คุม"โควิด-19" เปิดข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน หลังต่ออีก 2 เดือน
เปิดข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน คุมการระบาด"โรคโควิด-19" หลังต่ออายุอีก 2 เดือน ปิดสนามแข่งขัน-ผ่อนปรนกองถ่าย
หลังจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ข้อสรุปให้มีการต่อ พรก.ฉุกเฉิน หรือ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด - 19) จากเดิมสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม ไปสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศข้อกำหนด ออกความตามในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 13) โดยมีเนื้อหาดังนี้
ข้อ 1 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใด ๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย
ข้อ 2 การเปิดดำเนินการสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม เพิ่มเติมตามความสมัครใจ และความพร้อม โดยคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคตามที่การกำหนด (1) การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ได้เคยผ่อนคลายไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (2) สถานที่ใช้เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นเครื่องเล่นเป่าลม บ้านลม บ้านบอล หรือเครื่องเล่นอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่เป็นการติดตั้งแบบถาวรและได้รับการตรวจสอบรับรองตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด (3) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่น ในลักษณะทำนองเดียวกัน ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบสามารถเปิดดำเนินการ และให้บริการได้ตามความเหมาะสมเมื่อมีความพร้อม
ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมและสถานที่ดังกล่าว ต้องจัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบการดำเนินการ และหากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำแนะนำตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจมีคำสั่งปิดสถานที่ไว้เป็นการชั่วคราวและดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้
ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตรวจสอบกลั่นกรองและเสนอนำยกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่ใช้บังคับกับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม ที่ได้เปิดดำเนินการแล้วในห้วงเวลาที่ผ่านมาเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อ 3 การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการจัดการคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การควบคุมและป้องกันมิให้เกิดการระบาดของโรค จึงให้แก้ไขเพิ่มเติมประเภทของผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ.2563 ดังต่อไปนี้ (1) ให้ยกเลิกความใน (7) ในข้อ 1 การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ. 25633 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(7) คนต่างด้าว ซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว”
(2) ให้ยกเลิกความใน (8) ในข้อ 1 การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ.2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(8) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว หรือแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรได้รับอนุญาตจากทางราชการเพื่อผ่อนปรนให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและให้ทำงาน”
(3) ให้ยกเลิกความใน (11) ในข้อ 1 การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ.2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(11) ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (special arrangement) ระหว่างหน่วยงานของรัฐของประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีตามข้อเสนอและการตรวจสอบกลั่นกรองของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โควิด – 19 โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าวกำหนด”
ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา หลักเกณฑ์และมาตรการป้องกันโรค สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 แห่งข้อกำหนด (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิ.ย. พ.ศ. 2563 ด้วย
ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสาธารณสุขของประเทศ ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ กลั่นกรองและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเดินทางของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่นายกฯ หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) จะพิจารณาอนุญาตต่อไป บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค การจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ตามที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด
ข้อ 5 การบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้เจ้าของหรือผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม และกิจการต่าง ๆ จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด และให้ผู้ใช้บริการ หรือเข้าไปยังสถานที่ หรือร่วมทำกิจกรรมเช่นว่านั้น สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากทางเลือก เว้นระยะห่างทางสังคม และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด ตลอดจนเข้าระบบแอปพลิเคชันไทยชนะ หากมีการนำมาใช้ และต้องยอมรับการกักกันตามระยะเวลาและในสถานที่ที่รัฐกำหนดสำหรับผู้อยู่ในข่ายต้องรับการกักกัน
ข้อ 6 การประสานงาน ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการ ทั้งในส่วนของประชาชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อกำหนดนี้ ให้หารือ หรือประสานงานกับคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค. เป็นประธาน