ข่าว

เต็มแล้ว จุฬาฯปิดรับอาสาสมัครฉีดวัคซีน "ChulaCov19" เตรียมฉีดปลายเดือน ส.ค.นี้

เต็มแล้ว จุฬาฯปิดรับอาสาสมัครฉีดวัคซีน "ChulaCov19" เตรียมฉีดปลายเดือน ส.ค.นี้

07 ส.ค. 2564

ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปิดรับสมัครอาสาสมัครฉีดวัคซีนสัญชาติไทย "ChulaCov19 แล้ว หลังคนแห่สมัครเต็มก่อนกำหนด เตรียมฉีดปลายเดือน ส.ค.2564

หลังจากที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับอาสาสมัครสุขภาพดี สำหรับโครงการ ChulaCov19 vaccine ระยะที่ 1 "ทดลองฉีดวัคซีน mRNA " สัญชาติไทย  "ChulaCov19" เพิ่มเติมในกลุ่มอายุ 56-75 ปี โดยต้องมีคุณสมบัติ ไม่มีโรคประจำตัว ,ไม่เคยติดเชื้อ covid-19 และ ไม่เคยได้รับวัคซีน covid-19  เริ่มเปิดรับสมัครมาตั้งแต่ วันที่ 3 - 10 ส.ค.2564 

 

 

เต็มแล้ว จุฬาฯปิดรับอาสาสมัครฉีดวัคซีน \"ChulaCov19\" เตรียมฉีดปลายเดือน ส.ค.นี้

 

ล่าสุด ทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศปิดรับสมัครแล้ว เนื่องจากขณะนี้ มีผู้ร่วมทะเบียนเข้ามาเพียงพอตามเป้าหมาย ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จึงขอประกาศปิดรับการลงทะเบียน สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดกรองในเบื้องต้น จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ส่วนคนที่ไม่ผ่านการคัดกรอง จะมี SMS ส่งไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้

 

สำหรับ วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบ และพัฒนาโดยคนไทย จากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีน ที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้ จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

 

เต็มแล้ว จุฬาฯปิดรับอาสาสมัครฉีดวัคซีน \"ChulaCov19\" เตรียมฉีดปลายเดือน ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ได้ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัคร เมื่อวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก และ จะมีการทดลองฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 ปลายเดือนสิงหาคมนี้