
'ปู'เปิดงานพุทธชยันตีที่วัดพระสิงห์
"ยิ่งลักษณ์" เป็นประธานเปิดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่วัดพระสิงห์ มจร.พร้อมจัดประชุมชาวพุทธโลก พระธรรมโกศาจารย์ชี้ความมั่นคงของมนุษย์ต้องอาศัยหลักพระพุทธศาสนายึดพระราชดำรัสในหลวง
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเฉลิมพระเกียรติ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายประพล มิลินทจินดา รองประธานมูลนิธิและผู้จัดการมูลนิธิพระรัตนตรัย เข้าร่วมพิธี
อันดับแรกน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชมขบวนที่เดินทางจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เข้าสู่วัดพระสิงห์ ประกอบด้วยขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระทันตธาตุ จากวัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ที่อยู่บนคชาธาร (หลังช้าง) พรายเอกสิทธิ์ รวมถึงขบวนอัญเชิญธงพุทธยันตี 85 ชีวิต ขบวนหญิงสาวในชุดล้านนาโปรยดอกไม้ ขบวนกองล้านนา ขบวนอัญเชิญเครื่องสักการะ เสลี่ยงอัญเชิญพระแก้วมรกตโบราณ พระพุทธชยันตีพระคันธารราฏร์ พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภาตถาคต และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
หลังจากนั้นม.ล.ปนัดดาได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระทันตธาตุขึ้นสู่วิหารหลวง ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้อัญเชิญเครื่องสักการะขึ้นบนวิหารหลวง และเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานมูลนิธิพระรัตนตรัยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
นายประพล กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวโลกที่เรียกว่า พุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยรัฐบาลได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี สำหรับเชียงใหม่จัดงานฉลองขึ้นระหว่างวันที่ 11-20 พฤษภาคมที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
มจร.พร้อมจัดประชุมชาวพุทธโลก
ตามที่รัฐบาลและและมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ให้เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดกิจกรรมนานาชาตินั้น พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร. ในฐานะประธานสมาคมวิสาขบูชาโลก กล่าวว่า นับเป็นปีมหามงคลยิ่งใหญ่กว่าทุกปี ทาง มจร.ได้เชิญชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2555 ณ มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล จ.นครปฐม
พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต่อว่า โดยจะมีบุคคลสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเข้าร่วม อาทิ นายมหินทา ราชปักษา ประธานาธิบดีประเทศศรีลังกา พระอาจารย์ฉวนยิ่น ประมุขสงฆ์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พระสังฆราชทั้ง 2 นิกายจากราชอาณาจักรกัมพูชา พระมหานายกะทั้ง 3 นิกาย จากประเทศศรีลังกา นอกจากนี้ยังมีประมุขสงฆ์ นักปราชญ์คนสำคัญทางพระพุทธศาสนาและผู้เชี่ยวชาญจาก 84 ประเทศทั่วโลก
ชี้ความมั่นคงของมนุษย์ต้องอาศัยหลักพระพุทธศาสนายึดพระราชดำรัสในหลวง
ขณะเดี่ยวกันในโอกาสในวันที่ 13 พ.ค. มจร. จัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2555 พระธรรมโกศาจารย์ได้กล่าวปาฐกถา เรื่อง "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธกับประชาคมอาเซียน " ที่ มจร. อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 11 พ.ค. โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนากว่า 3,000 คน ความว่า "สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องการคือความมั่นคง ซึ่งจะเอาทหารเข้าไปจัดการไม่ได้ ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศไว้
1.(ASEAN Security Community) การอยู่อย่างปลาศจากความกลัวภัย อยู่อย่างไม่หวาดกลัว เดินทางไปไหนก็ได้ ในทุกจังหวัดของประเทศ รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่กลัว ไม่มีภัยต่อชีวิตและทรัยพ์สิน เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างนี้ มีความมั่นคงของมนุษย์ อยู่อย่างปราศจากเวรภัย ไม่มีสีไหนทะเลาะกับสีใด ถ้าสีไหนทะเลาะกันเอาทหารเข้าไปจะยุ่ง ความมั่นคงของมนุษย์มาจากธรรมะ เอากองทัพธรรมไปช่วย ให้คนรัก สามัคคีกัน กองกำลังเอามาคุมไม่ให้สองฝ่ายฆ่ากัน กองกำลังทหารตำรวจมีไว้ใช้ระงับความรุนแรง แต่จะให้คนรักกันต้องใช้ธรรมะเท่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์เราต้องการ
"2.(ASEAN Economic Community) อยู่อย่างปราศจากความยากจน ซึ่งทุกฝ่ายต้องมาพร้อมใจกันสู้ ประเทศไทยมีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ หนึ่งในนั้นมาจากปัญหาเศรษกิจด้วยไม่ใช่ความไม่เข้าใจเพียงอย่างเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานวิธีแก้ปัญหา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา พัฒนาเพื่อให้แก้ไขปัญหาความยากจน เข้าใจเข้าถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องความหวาดกลัว พระอง์ทรงแนะนำไว้หมด ปัญหาว่า ศาสนาทำอย่างไรในเรื่องนี้ ซึ่งจะเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยนจะต้องบรรลุในปี 2015 หรืออีก 3 ปีจากนี้ไป" พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวและว่า
3. นับเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจอาเซี่ยน (SAEAN Secio-Caitural Community) ซึ่งไม่ทันในปี 2015 แต่ต้องทำให้เสร็จในปี 2563 สังคมประชาคมและวัฒนธรรมอาเซี่ยน คือวัฒนธรรมที่มีรากฐานที่แตกต่าง คือพุทธ คริส อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ชิกซ์ ในแต่ละประเทศจะรวมเป็นหนึ่งได้อย่างไร พระพุทธศาสนาในประเทศไทยจะทำอย่างไรที่ช่วยให้เกิดความกลมกลืนกับประเทศอาเซี่ยนที่แตกต่างทางศาสนาได้อย่างไร ปรับตัวอย่างไรถ้าจะส่งพระธรรมทูตไปสอนในบ้านเขา และถ้าเขามาประเทศเราๆ ตั้งรับอย่างไร ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมนี้จะมีทุกระดับ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้พูดถึงเท่าที่ควร เพราะไปเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ภายใน 2-3 ปี เราจะต้องมาพูดถึงอาเซียนกับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้โดนกับพระพุทธศาสนาเต็มๆ เป็นภาระของมหาจุฬาฯ เต็มๆ ซึ่งจะต้องมาพูดกันอย่างจริงๆ จังๆ ในโอกาสต่อไป