ในหลวง ราชินี ทอดพระเนตร ดนตรีคลาสสิค วาระ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระพี่นางฯ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิค วาระครบ 100 ปี วันประสูติ 'สมเด็จพระพี่นางฯ' ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เวลา 20.03 น. วันที่ 19 มิ.ย. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิคน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณ วาระครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรนิทรรศการน้อมรำลึกในพระกรุณาคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงเป็น นักปราชญ์ผู้รอบรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรมและโบราณคดี ทรงให้ความสำคัญของศิลปะวัฒนะธรรมโบราณคดีประวัติศาสตร์และมรดกโลกอันก่อให้เกิดความรักความหวงแหนและความตระหนักในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ทรงส่งเสริมงานแสดงต่างๆ เช่นดนตรีคลาสสิค ละครอุปรากร
ทั้งยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานแสดงและวงดนตรีต่างๆ เช่นวงดุริยางค์เยาวชนไทย วงซิมโฟนี่ออร์เคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธินาฏยะศาลาหุ่นละครเล็ก เป็นต้น อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงให้การสนับสนุนช่วยเหลือและส่งเสริมนักดนตรีคลาสสิคมาโดยตลอด ดังนั้นองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศถวายพระเกียรติยกย่องให้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชน จากพระกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติ ด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะสร้างประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทยและสังคมโลก
จากนั้นทอดพระเนตรวีดิทัศน์ความเป็นมาของทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิค ในพระอุปถัมภ์ ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมกิจกรรมดนตรีคลาสสิคให้แพร่หลายในประเทศไทยและส่งเสริมศิลปินที่มีความสามารถให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีระดับนานาชาติตลอดจนการไปศึกษาต่อต่างประเทศ ด้วยพระปณิธานของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จะพัฒนาให้วงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศอื่นๆได้นำไปสู่การก่อตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาในเวลาต่อมาเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของการยกระดับการศึกษาด้านดนตรีสากลในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มก่อตั้งทุนจนถึงปัจจุบันรวมมีนักดนตรีนักร้องและนักประพันธ์เพลงที่ได้รับทุนรวมมากกว่า 100 คนนับเป็นการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิคที่ปรากฏผลลัพธ์อย่างน่ายินดี
จากนั้นเสด็จเข้าหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรการแสดงดนตรีคลาสสิกน้อมรำลึกพระกรุณาคุณ วาระครบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นการแสดงเปียโนของเซอร์สตีเวน ฮัฟ (Sir Stephen Hough) นักเปียโนระดับโลกชาวอังกฤษ แสดงร่วมกับวงรอยัลบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา โดยมี แซนเดอร์ เตเปน (Sander Teepen) เป็นวาทยกร การแสดงประกอบด้วย 4 บทเพลง ได้แก่
- โอเวอร์เจอร์ - รัสแลน แอนด์ ลุดมิลลา (Overture - Russlan and Ludmilla) ของ มิคาอิล กลิงกา (Mikhail Glinka) บทเพลงเปียโน คอนแชร์โต หมายเลข 2 (Piano Concerto No 2 in C minor, Op.18) ของ เซียร์เกย์ รัคมานีนอฟ (Sergei Rachmaninof)
- บทเพลงเปเลอาส เอ เมลิซองเด (Pelléas et Mélisande, Op. 80) ของ กาเบรียล โฟเร (Gabriel Fauré) และ
- บทเพลง 1812 โอเวอร์เจอร์ (1812 Overture, Op. 49) ของ ปิออตร์ อิลิช ไชคอฟสกี (Piotr Ilyich Tchaikovsky)
ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญช่อดอกไม้พระราชทานแก่ผู้แทนนักแสดงด้วย
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจหลากหลายแขนง ทรงรับโครงการในพระอุปถัมภ์มากกว่า 70 โครงการ ทั้งด้านการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การแพทย์และการสาธารณสุข การต่างประเทศ การศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ กับทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการเขียน การกีฬา และการถ่ายภาพ รวมทั้งยังทรงสนพระทัยติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิค และเสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงของนักดนตรีคลาสสิคที่มีชื่อเสียงอย่างสม่ำเสมอ
พร้อมทั้งมีพระดำริที่จะพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิคของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น เมื่อปี 2543 ทรงพระเมตตาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งกองทุนสำหรับนักดนตรีคลาสสิค ชื่อ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชน” ต่อมาในปี 2547 จึงเปลี่ยนเป็น “ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิค ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อให้ขอบเขตของการสนับสนุนกว้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจกรรมดนตรีคลาสสิคให้แพร่หลายในประเทศไทย และส่งเสริมศิลปินที่มีความสามารถให้ได้รับโอกาสในการพัฒนา ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีระดับนานาชาติ ตลอดจนการไปศึกษาต่อต่างประเทศ
พระปณิธานที่จะพัฒนาให้วงการดนตรีคลาสสิคในประเทศไทยทัดเทียมกับนานาประเทศ ได้นำไปสู่การก่อตั้ง “สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา” ในเวลาต่อมา ซึ่งนับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของการยกระดับการศึกษาด้านดนตรีสากลในประเทศไทย ในวาระครบ 100 ปี วันประสูติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศถวายพระเกียรติยกย่องให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาเพื่อปวงชน จากพระกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติ ด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะสร้างประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทยและสังคมโลก