ข่าว

"วันมหิดล" 24 กันยายน รำลึกพระบิดาแห่งการแพทย์ และสาธารณสุขไทย

"วันมหิดล" 24 กันยายน รำลึกพระบิดาแห่งการแพทย์ และสาธารณสุขไทย

23 ก.ย. 2567

"วันมหิดล" 24 กันยายน น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย"

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

วันมหิดล 24 ก.ย. ของทุกปีเป็นวันมหิดล วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย" ทรงเป็นพระบิดาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่ง คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น "วันมหิดล" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา

 

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

  • ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434
  • เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2472
  • พระชนมายุ 38 พรรษา
  • ทรงเป็นต้นราชสกุล มหิดล ณ อยุธยา

 

 

เมื่อครั้งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างไพศาล โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการสาธารณสุขทรงอุทิศกำลังพระวรกายและพระหฤทัย ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมาย บรรดาผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย"

 

 

พิธีวันมหิดล

เริ่มโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทรงเปิด พระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2493 แล้ว ในวันที่ 24 ก.ย. ปีเดียวกัน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และนักศึกษาพยาบาล โดยการนำของ บุญเริ่ม สิงหเนตร นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ และ ชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์ หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา

 

จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลาแล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาท ซึ่งประพันธ์โดย ภูเก็ต วาจานนท์ หลังจากนั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ.เติม บุนนาค วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ในเวลาต่อมาก็มีงานอื่นๆ ประกอบอีก เช่น ระยะแรกมีการออกรายการสดุดีสมเด็จพระบรมราชชนกทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนักศึกษาแพทย์และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มีการทำงานโยธาในวันมหิดล ต่อมาเมื่อมีโทรทัศน์ ก็เริ่มจัดรายการ โทรทัศน์วันมหิดล และมีการจำหน่ายธง วันมหิดล เพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช

 

 

วันมหิดล

ธงวันมหิดล

ปี 2503 ศ.นพ.กษาณ จาติกวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชมีการจัดหน่ายธง "วันมหิดล" เพื่อให้ประชาชนทุกเศรษฐานะมีส่วนเกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของ โรงพยาบาลศิริราช ในปีแรกมีการจำหน่ายธงขนาดกลาง ราคา 10 บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา 1 บาท นักศึกษาทุกหมู่เหล่าในวิทยาเขตศิริราช ได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ การรักษาพยาบาลและเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้

 

ใน พ.ศ. 2520 การจำหน่ายธงได้ผลดีเกิดคาด ธงไม่พอสำหรับวันออกรับบริจาคครั้งใหญ่ กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษาจากทุกคณะ และทุกวิทยาเขต จึงอาสาทำธงมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน กิจกรรมการทำธงวันมหิดลเพื่อมอบแก่ผู้บริจาคช่วยผู้ป่วยมีประชาชนหลายหมู่เหล่ามาร่วมบริจาคตามศรัทธา นับเป็นการปลูกฝังนิสัยการเป็นผู้ให้และผู้เสียสละให้แก่นักศึกษา ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างพลังสามัคคี และพลังกตัญญูกตเวทีในหมู่ประชากรไทยอีกด้วย

 

ธงวันมหิดล

ธงวันมหิดล ปี 2567

ธงมหิดล จะถูกผลิตขึ้นโดยใช้สีของวันซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายนของปีนั้นๆ และในปีนี้ ตรงกับวันอังคาร ธงมหิดล ของปีนี้จึงเป็นสีชมพู