คอลัมนิสต์

'ทัตตชีโว'หายไปไหน?

'ทัตตชีโว'หายไปไหน?

07 มิ.ย. 2559

'ทัตตชีโว'หายไปไหน? : กระดานความคิด โดยประชา บูรพาวิถี

           มหากาพย์ธรรมกาย ปี 2541-2542 สื่อมวลชนยังได้เห็น “หลวงพ่อทัตตชีโว” ปรากฏตัวอยู่แถวหน้าของชาววัดพระธรรมกาย

           แต่สำหรับมหากาพย์ธรรมกาย ปี 2559 หลายคนถามหลวงพ่อทัตตชีโว ? ท่านหายไปไหน

           บรรดาผู้ที่ออกมาขับเคลื่อนแจกแจงข้อครหาต่างๆ กลายเป็นสำนักสื่อสารองค์กร และกลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย

           สำหรับพระผู้ใหญ่ของวัด ก็เห็นแต่บทบาทของพระภาวนาธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ออกมาต้อนรับคณะพระภิกษุจากจังหวัดต่างๆ

           พระภาวนาธรรมวิเทศ หรือ พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (ภูเบศ ฌานาภิญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเบเนลักซ์ เบลเยียม ที่ได้เลื่อนชั้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่ “พระภาวนาธรรมวิเทศ สย.วิ.” เมื่อปีที่แล้ว

           วันนี้ พระภาวนาธรรมวิเทศ ยังเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และเป็นตัวแทนพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) และมูลนิธิธรรมกาย

           จึงมีบางคนกังขา หาก “หลวงพ่อธัมมชโย” ต้องเผชิญกับมรสุมคดีความ ยากที่จะเลี่ยงได้ในวันข้างหน้า ผู้ใดจะมาเป็นเสาหลักให้ “วัดพระธรรมกาย” สืบต่อไป

           ถ้าพิจารณาจากโครงสร้างวัดพระธรรมกาย ผู้จะมาสืบทอดดูแลอาณาจักรธรรมกาย ก็คือ พระราชภาวนาจารย์ วิ. (เผด็จ ทตฺตชีโว) หรือ “หลวงพ่อทัตตชีโว” รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในปัจจุบัน

           หลวงพ่อทัตตชีโว นามเดิม “เผด็จ ผ่องสวัสดิ์” ถือกำเนิดในครอบครัวชาวไร่ ที่จ.กาญจนบุรี มีประสบการณ์ในการฝึกวิชาคงกระพันชาตรี และในวัย 17 ปี ได้ไปฝึกสมาธิกับหลวงพ่อบุญธรรม วัดเขาแหลม จ.กาญจนบุรี แต่ไม่ทิ้งวิชาคุณไสย

           เมื่อ “เผด็จ ผ่องสวัสดิ์” เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พบกับนิสิตรุ่นน้องชื่อ “ไชยบูลย์” ได้นำพาให้ไปสัมผัส “วิชชาธรรมกาย” จึงเลิกอย่างเด็ดขาดกับวิชาคงกระพันชาตรี

           “หลวงพ่อทัตตชีโว” ทราบว่านิสิตรุ่นน้องคือ หลวงพ่อธัมมชโย ถือศีล 5 ไม่ดื่มสุรา และเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ท่านจึงสนใจและได้ติดตามทำความรู้จัก

           ตั้งแต่นั้นมา หลวงพ่อทัตตชีโว ก็ติดตามหลวงพ่อธัมมชโย ไปศึกษาธรรมปฏิบัติกับ “คุณยายอาจารย์จันทร์ ขนนกยูง” ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

           นิสิตเกษตรฯ นาม “เผด็จ ผ่องสวัสดิ์” เข้าสู่เพศบรรพชิตเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2514 ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้รับฉายาว่า ทตฺตชีโว แปลว่า ผู้ถวายชีวิตแล้วแด่พระศาสนา

           เล่ากันว่า สมัยก่อร่างสร้างวัดพระธรรมกาย คุณยายจันทร์ ขนนกยูง จะเป็นเสมือนจอมทัพ โดยมีหลวงพ่อธัมมชโย เป็นเสนาธิการ ผู้คอยวางแผน

           ส่วนหลวงพ่อทัตตชีโว เป็นขุนศึกผู้นำทัพลงสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง

           ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดหาที่ดินนับพันไร่ การสร้างศาสนสถาน สร้างอาคารปฏิบัติธรรม ฯลฯ ล้วนได้แม่ทัพชื่อ หลวงพ่อทัตตชีโว เข้าไปบริหารจัดการให้ลุล่วงไป

           ดังนั้น หลวงพ่อธัมมชโยกับหลวงพ่อทัตตชีโว จึงเปรียบดัง “ขุนพลคู่บารมี” ของคุณยายจันทร์ ขนนกยูง

           จึงมีคำเรียกขานกันในหมู่กัลยาณมิตรว่า “ครูไม่ใหญ่” หมายถึง หลวงพ่อธัมมชโย

           ส่วน “ครูไม่เล็ก” นั้นหมายถึง หลวงพ่อทัตตชีโว

           เมื่อไม่นานมานี้ หลวงพ่อทัตตชีโว ได้สร้าง “พระมหาเจดีย์ทัตตชีโว” ขึ้นที่ศูนย์อบรมเยาวชนกาญจนบุรี ริมแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมทั้งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

           การขยายอาณาจักรธรรมกายในบ้านเกิดของหลวงพ่อทัตตชีโว จึงมีเสียงวิจารณ์กันในทำนอง “เสือสองตัว” อยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้

           เท็จจริงอย่างไร? ก็ต้องรอพิสูจน์ ในห้วงวิกฤติธรรมกายครั้งนี้