กระแสนักปั่นชี้วัดอนาคต'ไบค์เลน'
'การปั่นจักรยาน' ในกรุงเทพฯ ขาลง !? จ่อชี้วัดอนาคต 'ไบค์เลน'
ฤ จะเป็นช่วงกระแสขาลงสำหรับ "การปั่นจักรยาน" ในกรุงเทพฯ ภายหลังหน่วยงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2547 เพราะกว่า 48 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ ระยะทางกว่า 298 กิโลเมตร บางพื้นที่เปลี่ยนสภาพพื้นที่ร้างหรือถูกยึดจากผู้ค้าและกลุ่มมอเตอร์ไซค์
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักปั่นที่ร่วม “ปลุกกระแส” ฟีเวอร์กีฬาเพื่อสุขภาพและการเดินทางรูปแบบใหม่ ลดปัญหาการจราจรบนทางหลวง โดยเฉพาะเป็น “ทางเลือก” การเดินทาง และเป็น “ตัวเลือก” กิจกรรมออกกำลังกาย ไม่เว้นแต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้มาปักหมุด 28 ธันวาคม 2557 ปั่นจักรยานเปิดเส้น “ไบค์เลน” รอบเกาะรัตนโกสินทร์ด้วยตัวเอง
ทว่า ปัญหาจราจร ความมีน้ำใจของผู้ใช้รถยนต์ ข้อร้องเรียนจากชุมชนตลอดเส้นทางจักรยาน หรือการดูแลสภาพของเลนจักรยาน กลายเป็น “ปัจจัย” หลัก ที่สวิงมากระทบต่อกระแสการปั่นจักรยานโดยตรง โดยเฉพาะเสียงสะท้อนจาก “นักปั่น” พบว่ายังเป็นปัญหาเรื่องเดิมในเรื่องกายภาพ ตั้งแต่เลนจักรยานถูกแย่งสิทธิใช้งานจากมอเตอร์ไซค์ ผู้ค้า บางพื้นที่พื้นไม่เรียบ เสาพัง สีพื้นถลอก หรือเส้นทางเชื่อมต่อเป็นพื้นที่ฟันหลอ ทำให้มีผู้ใช้งานน้อยลง เมื่อได้รวมกับข้อท้วงติงจากกลุ่มภูมิสถาปนิก และข้อเรียกร้องชาวชุมชนที่ต้องการ “พื้นผิวถนน” กลับมานั้น
ทั้งหมดได้ย้อนกลับเป็นแรงกดดันให้ กทม.เร่งตัดสินอนาคตเส้นทางจักรยาน ท่ามกลางกระแสข่าวกำลังพิจารณา “ยกเลิก” บางเส้นทางจักรยานที่สำนักงานเขตไปสำรวจแล้วว่าไม่มีผู้ใช้งาน อาทิ ทางจักรยานถนนพุทธมณฑลสาย 2 และสาย 3 ทางจักรยานถนนบรมราชชนนี-เพชรเกษม เพื่อประหยัดงบประมาณดูแล ทั้งหมดก็มีการตั้งคำถามถึงความ “คุ้มค่า” ต่องบประมาณในโครงการนี้ว่าได้คุ้มเสียหรือไม่?
“วัชระ กาญจนสุต” สถาปนิกปฏิบัติการ สำนักงานวิศวกรรมจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. หนึ่งในทีมผู้ออกแบบเลนจักรยาน ระบุว่า วัตถุประสงค์ของเส้นทางจักรยานจะเน้นเรื่องการเดินทางเป็นหลัก ตามด้วยเรื่องนันทนาการและออกกำลังกาย จากการสำรวจพบว่ามีผู้ใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกายมากกว่า แต่ที่มีเสียงสะท้อนออกมาค่อนข้างดีก็มาจากกลุ่มที่ใช้จักรยานสำหรับเดินทางเช่นในเส้นลาดพร้าว เพราะสามารถใช้จักรยานเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน หรือไปยังสถานที่อื่นได้
ส่วนกลุ่มที่ใช้จักรยานเพื่อท่องเที่ยวหรือขี่ออกกำลังกาย ซึ่งจะขี่มาเป็นกลุ่มนั้น เส้นทางจักรยานปัจจุบันจะไม่สามารถตอบโจทย์ใช้งานของกลุ่มเหล่านี้ได้เต็มที่ เนื่องจากการออกแบบกำหนดให้วิ่งช่องทางเดียว ไม่มีเรียงหน้ากัน สจส.จึงต้องสร้างเลนจักรยานในสวนสาธารณะ เพื่อรองรับคนใช้จักรยานกลุ่มนี้
“ที่ผ่านมาการสร้างช่องทางจักรยานให้สมบูรณ์ มีเลนเฉพาะ มีเคิร์ฟกั้น ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด เพราะในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ต่างกัน หรือบางพื้นที่ก็กระทบกับชาวบ้าน ทำให้ต้องปรับรูปแบบใหม่ หรือบางพื้นที่คนใช้งานน้อย คนส่วนใหญ่ก็มองว่าจะทำไปทำไม ทำให้การค้าเสียหาย ขณะที่อีกกลุ่มที่มีทักษะใช้จักรยานคล่องก็บอกว่าไม่ต้องทำก็ได้ สามารถขี่บนถนนร่วมกับรถยนต์ได้เลย แต่ สจส.เห็นว่า ขณะนี้ก็ยังมีกลุ่มที่ไม่มีทักษะการใช้จักรยานเท่าที่ควร หากจะยกเลิกเส้นทางจักรยานจะเสียโอกาสตรงนี้ไปด้วยหรือไม่ เพราะเลนจักรยานเป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในการให้บริการที่ต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้สัมฤทธิผลมากที่”
“วัชระ” ประเมินปัจจัยที่มีผู้ใช้จักรยานลดจำนวนน้อยลง 1.เส้นทางจักรยานยังไม่เชื่อมต่อ หรือพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องกายภาพ 2.พื้นที่ที่มีเลนจักรยานไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ยังมีผู้ค้าวางสิ่งของ รถยนต์จอดทับพื้นที่ มีมอเตอร์ไซค์มาใช้เลนจักรยาน และ 3.ผู้ที่ใช้จักรยานอาจไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย แต่สาเหตุข้างต้นทั้งหมด กทม.ยังไม่มีการประกาศยกเลิกการใช้งาน เพราะไม่มีนโยบายจากผู้บริหาร แต่ขณะนี้ สจส.ก็เตรียมปรับปรุงเส้นทางจักรยานที่มีผู้ใช้จำนวนมากอยู่แล้ว ประกอบด้วย 1.เส้นเพชรเกษม ตั้งแต่กาญจนาภิเษกถึงสุดเขตกรุงเทพฯ 2.ลาดพร้าวช่วงต้นถึงจตุจักร 3.จรัญสนิทวงศ์ และ 4.พหลโยธิน โดย สจส.จะมีการสำรวจความเสียหายเส้นทางจักรยานทุกๆ 6 เดือน
“จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่าในแต่ละเดือนจะมีผู้ใช้จักรยานในเส้นทางที่มีระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก โดยทั้ง 48 เส้นทางก็พบว่ายังมีผู้ใช้จักรยานเกือบหมื่นคันต่อเดือน ในแผนของ สจส.จะดำเนินการเพิ่มอีก 30 กว่าเส้นทาง ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องงบประมาณในแต่พื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะอยู่ที่กายภาพและรูปแบบในการสร้าง ส่วนเรื่องความคุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ ต้องดูว่าความคุ้มค่าพิจารณาจากจำนวนผู้มาใช้งาน หรือการเพิ่มทางเลือกให้พ่อแม่ลูกได้มีโอกาสมาใช้งาน ซึ่งที่จริงแล้วทางจักรยานเป็นพื้นฐานที่ต้องมี เพราะยังเชื่อว่าถ้ามีทางจักรยาน จะสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้จักรยานได้ในที่สุด”
“น้าหมี” มงคล วิจะระณะ นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ เห็นว่า เส้นทางจักรยานคาดการณ์ไม่ได้กับผู้ว่าฯ กทม.ชุดนี้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรไม่เคยทำประชาพิจารณ์มาก่อน ก็เป็นอำนาจของเขา ส่วนสิ่งที่ทำจะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมขนาดไหนต้องดูอีกครั้ง แต่อยากเสนอ 2 เรื่องหลักๆ 1.ปรับปรุงทางเท้าให้ดีเพื่อให้คนพิการมาใช้งานได้ เพราะถ้าคนพิการยังสามารถใช้ทางเท้าที่มีมาตรฐานได้ คนเดินเท้าหรือคนใช้จักรยานก็จะได้ใช้ทางเท้าที่ดีไปด้วย เช่น ที่ประเทศสิงคโปร์มีทางเท้าดีมากๆ 2.หาก กทม.จะสนับสนุนให้คนใช้จักรยาน หากพบว่าถนนเส้นไหนยังไม่มีการตีเส้นของทาง ก็ขอให้มีการตีเส้นให้เป็นสัญลักษณ์ของเลนจักรยานประมาณ 60-80 เซนติเมตร โดยไม่ต้องกั้นเป็นทางจักรยานโดยเฉพาะ หรือลงภาพจักรยานที่พื้น เพื่อคนที่ใช้ถนนคนอื่นรู้ว่าเป็นทางจักรยานด้วย หรือสามารถจอดรถ และใช้ถนนตรงนี้ได้ด้วยช่วงที่ไม่มีจักรยานใช้งาน
“เพราะถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ รถทุกประเภทสามารถใช้ร่วมกันได้ รถจอดส่งของได้ แท็กซี่จอดได้ อะลุ่มอล่วยกัน ไม่ใช่เอาอะไรมากั้นแบบถนนพระอาทิตย์ เพราะบางช่วงก็มีคนใช้จักรยานน้อยมาก ดังนั้นพื้นที่ถนนก็ควรจะให้คนอื่นมาใช้ด้วย”
นายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพยังเชื่อว่า ขณะนี้กระแสคนขี่จักรยานไม่ได้ลดลง โดย 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นทุกปี สังเกตจากผู้ที่มาร่วมงานวันคาร์ฟรีเดย์ หรือร่วมงานกิจกรรมไบค์ ฟอร์ มัม และไบค์ ฟอร์ แด๊ด แต่ถ้าเศรษฐกิจในอนาคตยังแย่แบบนี้ กลุ่มที่ใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกายจะน้อยลงด้วยผลกระทบด้านกำลังซื้อ แต่กลุ่มที่ใช้จักรยานเดินทางจะมาใช้จักรยานมากขึ้น เพราะต้องประหยัดค่าเดินทางด้วยภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ที่สำคัญขณะที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้กลุ่มคนที่ใช้จักรยาน แต่ก็มีคนใช้มากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลก กระแสสิ่งแวดล้อม หรือกระแสสุขภาพ ยิ่งถ้ามีกฎหมายดูแลและมีสิ่งอำนายความสะดวก ก็จะมีคนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นไปอีก
“ถ้าอนาคตมีรถไฟใต้ดินมากขึ้น การใช้จักรยานจากบ้านมาสถานีรถไฟก็จะมีมากขึ้น เช่น ที่ญี่ปุ่นเขาจะขี่จักรยานมาสถานีรถไฟเพื่อไปทำงานต่อได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดหน่วยงานต้องมีแผนรองรับที่จะสนับสนุนให้คนหันมาใช้จักรยานหรือไม่”
ขณะที่ “ชัชวาลย์ เสียงสุทธิวงศ์” นักปั่นจักรยานหนุ่ม และผู้ค้าย่านเสาชิงช้า มองว่า ในฐานะนักปั่นย่านเขตพระนคร คิดว่าเส้นทางจักรยานไม่คุ้มค่าที่ลงทุนไป เพราะจากการสังเกตในช่วงการปั่นเช้าและเย็นพบว่าผู้ที่ใช้เลนจักรยานแทบจะไม่เห็น เฉลี่ย 1 ชั่วโมงจะมีผู้ใช้จักรยานแค่ 1 คัน อย่างมากสุดจะเป็นช่วง 2-3 ทุ่ม จะมีนักปั่นมาใช้เลนจักรยานในรอบเกาะรัตนโกสินทร์มากกว่า ถือว่าเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้จักรยานยังมีน้อย โดยเท่าที่สังเกตจะมีคนใช้จักรยานปั่นออกกำลังกายมากกว่าปั่นเพื่อไปทำงานหรือปั่นในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นจึงคิดว่า เลนจักรยานในกรุงเทพฯ ที่สร้างบนผิวถนนยังคิดว่าไม่จำเป็น เพราะจะมีผลกระทบต่อการจราจรเพิ่มมากกว่า โดย กทม.ควรจะเน้นการสร้างเลนจักรยานในสวนสาธารณะมากกว่าบนผิวถนน เพื่อตอบความต้องการผู้ที่ใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกาย
“ส่วนเลนจักรยานที่สร้างไปแล้วบนถนนไม่คุ้มค่า ควรจะเอาออกเพื่อไม่ให้กระทบกับผิวถนนที่มีอยู่ ซึ่งผมก็เป็นคนใช้รถยนต์เหมือนกัน เลนจักรยานที่ดีควรจะมีผู้ใช้งานมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ถึงจะเรียกว่าคุ้มค่า เช่น ถนนมหาไชยบริเวณแยกสำราญราษฎร์ถึงแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ในจุดนี้แทบจะไม่มีคนใช้งานเลนจักรยานก็ว่าได้ ทำให้ถนนเส้นนี้มีรถติดมากกว่าเดิม”
“ชัชวาลย์” เสนอทิ้งท้ายว่า หาก กทม.จำเป็นต้องมีเลนจักรยานเพื่อรองรับการใช้งานรูปแบบใดก็ตาม ต้องมีเลนจักรยานในพื้นที่ถนนใหญ่และเส้นทางหลัก ที่มีหลายช่องทางจราจร รวมถึงเป็นจุดที่มีผู้ใช้จักรยานเป็นจำนวนมาก จะเหมาะสมกับการใช้งานที่มากกว่า
------------------------
48 เส้นทางจักรยานในกรุงเทพฯ
เส้นทางจักรยานในกรุงเทพฯ 48 เส้นทาง รวมระยะทาง 298 กิโลเมตร ถูกแบ่งเป็น 6 พื้นที่การใช้งาน 1.เส้นทางจักรยานบนผิวจราจร 2.เส้นทางจักรยานร่วมบนทางเท้า 3.เส้นทางจักรยานบนผิวจราจร-ร่วมบนทางเท้า 4.เส้นทางจักรยานบนไหล่ทาง 5.เส้นทางจักรยานเฉพาะ และ 6.เส้นทางจักรยานในสวนจักรยานในสวนสาธารณะต่างๆ ประกอบด้วย
1.ถนนอุทยาน 2.ถนนพุทธมณฑล สาย 3 3.ทางจักรยานเลียบคลองไผ่สิงโต 4.เส้นทางจักรยานถนนดวงพิทักษ์ 5.เส้นทางจักรยานถนนประดิษฐ์มนูธรรม 6.ถนนสรงประภา 7.ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ 8.ถนนรามคำแหง 9.ถนนประชาชื่น 10.ถนนสุขุมวิท 11.ถนนเจริญนคร 12.ถนนพหลโยธิน 13.ถนนเพชรเกษม 14.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 15.ถนนลาดพร้าว 16.ถนนจรัญสนิทวงศ์ 17.ถนนราษฎร์บูรณะ 18.ถนนสุขาภิบาล 5 (สายไหม) 19.ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน 20.ถนนราชดำริ 21.ถนนกรุงธนบุรี 22.ซอยวัดอินทราวาส 23.ถนนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ 24.ถนนสาทร
25.ถนนพุทธมณฑลสาย 2 26.ถนนสะแกงาม 27.ถนนบางขุนเทียนชายทะเลระยะ 1 28.ถนนบางขุนเทียนชายทะเลระยะ 2 29.ถนนประชาธิปก 30.ถนนลาดหญ้า 31.ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน 32.ถนนอินทรพิทักษ์ 33.ถนนพระอาทิตย์ 34.ถนนพระสุเมรุ 35.ถนนบวรนิเวศ 36.ถนนราชดำเนิน 37.ถนนดินสอ 38.ถนนบำรุงเมือง 39.ถนนมหาไชย 40.ถนนตะนาว 41.ถนนกัลยาณไมตรี 42.ถนนสนามไชย 43.ถนนมหาราช 44.ถนนหน้าพระลาน 45.ถนนหน้าพระธาตุ 46.ถนนราชินี 47.ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า 48.ถนนอรุณอมรินทร์
เส้นทางเหล่านี้ กทม.กำหนดห้ามจำหน่ายสินค้าบนทางจักรยาน มีโทษปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด 2,000 บาท
------------------------
เปิดสถิติจำนวนผู้ใช้จักรยาน 12 เส้นทางมากที่สุด
1.เส้นทางจักรยานถนนเพชรเกษม จากกาญจนาภิเษกถึงสุดเขตกรุงเทพฯ ระยะทาง 16 กิโลเมตร มีผู้ใช้ 175 คันต่อชั่วโมง
2.เส้นทางจักรยานชมกรุงรัตนโกสินทร์ ระยะที่ 1 ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร มีผู้ใช้ 141 คันต่อชั่วโมง
3.เส้นทางจักรยานถนนรามคำแหง จากคลองบางชันถึงแยกร่วมเกล้า ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 12.5 คันต่อชั่วโมง
4.เส้นทางจักรยานถนนจรัญสนิทวงศ์ จากจรัญสนิทวงศ์ซอย 5 ถึงจรัญสนิทวงศ์ซอย 65 ระยะทาง 14 กิโลเมตร ผู้ใช้งาน 95 คันต่อชั่วโมง
5.เส้นทางจักรยานลาดพร้าว จากห้าแยกลาดพร้าวถึงแฮปปี้แลนด์ ระยะทาง 21 กิโลเมตร ผู้ใช้งาน 93 คันต่อชั่วโมง
6.เส้นทางจักรยานถนนพหลโยธิน จากคลองบางซื่อถึงอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ระยะทาง 20.4 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 76 คันต่อชั่วโมง
7.เส้นทางจักรยานถนนอรุณอมรินทร์ จากสะพานพระราม 8 ถึงแยกอรุณอมรินทร์ ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 62 คันต่อชั่วโมง
8.เส้นทางจักรยานถนนสุขุมวิท จากทางรถไฟท่าเรือถึงสุขุมวิทซอย 81 ระยะทาง 3 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 62 คันต่อชั่วโมง
9.เส้นทางจักรยานถนนสุขาภิบาล 5 จากถนนออเงินถึงพหลโยธินซอย 54 ระยะทาง 10.2 กิโลเมตร ผู้ใช้งาน 62 คันต่อชั่วโมง
10.เส้นทางจักรยานถนนราษฎร์บูรณะ จากถนนเจริญนครถึงสุดเขตกรุงเทพฯ ระยะทาง 10 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 45 คันต่อชั่วโมง
11.เส้นทางจักรยานถนนนราธิวาสราชนครินทร์ จากถนนสุรวงศ์ถึงถนนพระราม 3 ระยะทาง 9 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 31 คันต่อชั่วโมง 12.เส้นทางจักรยานถนนเจริญนคร จากถนนลาดหญ้าถึงถนนราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 8 กิโลเมตร มีผู้ใช้งาน 17 คันต่อชั่วโมง
------------------------
(สำรวจกระแสนักปั่นเมืองกรุง กทม.จ่อชี้วัดอนาคต 'ไบค์เลน' : โดย...ธนัชพงศ์ คงสาย สำนักข่าวเนชั่น)