คอลัมนิสต์

ปิดตำนานวัดเสือหลวงตาจันทร์

ปิดตำนานวัดเสือหลวงตาจันทร์

11 มิ.ย. 2559

ยังคงมีการลักลอบค้าเสือ เพราะเชื่อว่าการบริโภคเสือมีสรรพคุณบำรุงสุขภาพ เพิ่มกำลังวังชา ผู้ใดมีหนังเสืออยู่ในครอบครองจะมีอำนาจบารมี


                    การตรวจพบซากลูกเสือแช่แข็ง และซากลูกเสือที่ถูกดองในขวดโหล รวมกันกว่า 70 ซาก และซากหนังสือโคร่งเต็มตัวอีก 2 ซาก ตะกรุดที่ทำจากหนังเสือกว่า 1,000 ชิ้น ซากหมีขอและสัตว์ป่าชนิดอื่นอีกจำนวนหนึ่ง ได้ภายในวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือวัดเสือหลวงตาจันทร์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นการยืนยันข้อมูลขององค์กร Cee 4 life (Conservation and Environmental Education for Life) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรของประเทศออสเตรเลีย นำหลักฐานเกี่ยวกับเสือที่ถูกเคลื่อนย้ายเข้าและออกจากวัดเสืออย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบค้าเสือข้ามชาติ ให้แก่รัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 2547 

                    ข้อมูลขององค์กรนี้ถูกส่งให้แก่ทีมงาน “เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก”  นิตยสารด้านสิ่งแวดล้อมเป็นที่รู้จักทั่วโลก จนกระทั่งมีการส่งทีมงานเข้ามาตรวจสอบก่อนจะมีการตีพิมพ์บทความเผยแพร่เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเสือภายในวัดเสือหลวงตาจันทร์ ทำให้เป็นที่รับรู้เป็นวงกว้างในต่างประเทศ กระทั่งองค์กรพิทักษ์สัตว์หลายหน่วยงานเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ย้ายเสือออกจากวัดป่าแห่งนี้

 

ปิดตำนานวัดเสือหลวงตาจันทร์

 

                    ฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การเรียกร้องให้ย้ายเสือออกจากวัด คือการหายไปของเสือเพศผู้ 3 ตัว คือ ดาวเหนือ อายุ 7 ปี ฟ้าคราม อายุ 3 ปี และแฮปปี้ 2 อายุ 5 ปี ซึ่งมีหลักฐานที่กล่าวอ้างถึงคือภาพจากกล้องวงจรปิดที่เห็นภาพไม่ชัดเจนนัก ที่ระบุถึงการเข้าไปในกรงเสือและทำการฆ่าและนำเสือออกไป

                    ชารอน กายนูป (ผู้เขียนข่าว) และ สตีฟ วินเทอร์ (ช่างภาพ) ทีมงานของ “เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก” เข้าไปสัมภาษณ์พระในวัดเสือ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557 ได้รับการยืนยันว่าเสือทั้งสามตัวยังอยู่ที่วัด แต่เมื่อเดือนเมษายน 2558 ทีมงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบกลับไม่พบเสือทั้ง 3 ตัว และยังพบเสืออีก 13 ตัว ที่ไม่ได้ฝังไมโครชิพตามข้อกำหนดทางกฎหมายสำหรับสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์กรณีที่มีการเพาะเลี้ยงในกรง

                    ลูกศิษย์ของหลวงตาจันทร์ รวมถึงทนายความของวัด ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และอ้างว่าหลวงตาจันทร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

 

ปิดตำนานวัดเสือหลวงตาจันทร์

 

                    “ตะกรุดและซากหนังเสือทั้งหมดไม่ใช่ของหลวงพ่อ แต่เป็นของคนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และผู้ที่ถูกจับกุมเป็นคนทำขึ้นมาเอง โดยเก็บไว้ในห้องพักของตนเอง แต่เมื่อมีคณะเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจค้น เกิดความกลัว จึงขนย้ายไปเก็บไว้บนกุฏิของหลวงพ่อ เพราะคิดว่าเจ้าหน้าที่คงไม่กล้าขึ้นไปตรวจค้นบนกุฏิ แต่ภายหลังเจ้าหน้าที่ปูพรมตรวจค้นกุฏิทั้งหมด ด้วยความกลัวผู้ที่ถูกจับจึงขนตะกรุดและซากหนังเสือไปไว้ที่รถกระบะแล้วขับออกไป โดยนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นรถไปด้วยโดยที่ไม่รู้ว่ามีซากสัตว์เหล่านั้นอยู่ ซึ่งหลวงพ่อไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับซากสัตว์เหล่านั้นเลย” นายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของหลวงตาจันทร์ แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้

                    พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานด้านป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ รับผิดชอบในการตรวจสอบและขยายผลว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าสัตว์ข้ามชาติหรือไม่

                    เสือในวัดหลวงตาจันทร์ เริ่มต้นจากมีผู้นำมามอบให้แก่วัดเลี้ยงไว้จำนวน 7 ตัว ก่อนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจะยึดไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2544 แต่ได้ฝากทางวัดเลี้ยงดูต่อ มีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม และทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเสือ เช่น ป้อนนมลูกเสือ ถ่ายรูปกับเสือ โดยการเก็บค่าบริการ กระทั่ง 15 ปีผ่านไป เสือที่นี่มีการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 147 ตัว 

 

ปิดตำนานวัดเสือหลวงตาจันทร์

 

                    ตลอดระยะเวลาที่วัดแห่งนี้เลี้ยงดูเสือมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของวัด โดยฝ่ายไม่เห็นด้วยอ้างว่ามีการทรมานเสือและกล่าวหารุนแรงว่า เสือที่มีอยู่บางส่วนมีการนำเข้าเสือจากลาวมาสวมเสือที่ตายไป โดยเหตุที่เกิดขึ้นถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าเสือข้ามชาติ

                    ข้อมูลการตรวจสอบก่อนหน้านี้ระบุว่า ขบวนการค้าเสือข้ามชาติใช้ไทยเป็นทางผ่านสำคัญ มีการระบุถึงเครือข่ายค้าสัตว์ป่ารายใหญ่ของเอเชียอย่างน้อย 2 กลุ่มที่มีบทบาทในการค้าเสือในภูมิภาคนี้ โดยผู้ดำเนินการเป็นชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม มีธุรกิจขนาดใหญ่เชื่อมโยงกันใน 3 ประเทศ คือ ลาว ไทย และเวียดนาม บางกลุ่มถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ของไทยยึดทรัพย์ฐานค้าไม้พะยูงและเป็นเครือข่ายค้าสัตว์ป่าในไทยไปเมื่อ 2 ปีก่อน

                    นักธุรกิจกลุ่มนี้ เข้ามาเปิดฟาร์มสัตว์อยู่ที่ จ.ชัยภูมิ อุทัยธานี นครปฐม นครพนม อุบลราชธานี ชลบุรี และเชียงใหม่ รวมถึงในลาว อีกหลายแห่ง โดยเสือส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ฟาร์มมาจากภาคเหนือของมาเลเซีย ซึ่งนอกเหนือจากการนำเข้าตามฟาร์มในไทยแล้ว ยังมีการขนส่งทางบกผ่านไทย สู่ลาว ไปเวียดนาม ส่วนทางทะเลไปทางเรือเข้าเวียดนาม ปลายทางยังจีน อีกส่วนมีต้นทางจากประเทศพม่า ผ่านไทยใน 2 ทางหลักคือแม่สอด จ.ตาก และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ใช้เส้นทางบกไปยังภาคอีสานข้ามแม่น้ำโขงไปยังลาว เข้าเวียดนาม ปลายทางยังจีน ป้อนสู่ตลาดเปิบพิสดาร เพราะเชื่อว่าการบริโภคเสือมีสรรพคุณบำรุงสุขภาพ เพิ่มกำลังวังชา ที่สำคัญคือหนังเสือมีความสวยงามมีความเชื่อว่าผู้ใดมีอยู่ในครอบครองจะมีอำนาจบารมี แม้ทางการจีนสั่งห้ามการค้าเสือและอวัยวะต่างๆ แต่ไม่สามารถห้ามความเชื่อผู้บริโภคได้ จึงยังคงมีการลักลอบค้าเสือและราคาสูงขึ้น ว่ากันว่าเป็นการจูงใจให้ผู้กระทำผิดมากขึ้น และมีบางกลุ่มที่หันมาเปิดตลาดเปิบพิสดารเสือในเวียดนาม มีการนำชาวจีนที่นิยมบริโภคเสือเข้ามาใช้บริการในเวียดนาม และระยะหลังมีข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า มีบางส่วนที่เข้ามาบริโภคเนื้อเสือในแหล่งเพาะเลี้ยงในลาว รวมถึงบางแห่งในไทย ซึ่งข้อมูลนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของตำรวจและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

 

---------------------------

(เรื่องเล่าข่าวดัง : จับตาค้าเสือข้ามชาติ ปิดตำนานวัดเสือหลวงตาจันทร์ : โดย...ทีมข่าวอาชญากรรม)